นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่อง(ภูเก็ต กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรี) และอีกประมาณร้อยละ 40 (อยู่ในช่วง 222 - 273 บาท) ใน 70 จังหวัดที่เหลือ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมเพิ่มสูงขึ้นในสัดส่วนที่แตกต่างกันไป โดยในกลุ่มสินค้าสัตว์น้ำ เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 20 กลุ่มสินค้าเนื้อสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5-10 กลุ่มสินค้าผักผลไม้ กรณีธุรกิจขนาดกลาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 - 10 ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 - 3 กลุ่มสินค้าขนมปัง/อบกรอบ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6 — 10 เป็นต้น
“โดยรวมพบว่าต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการสูงขึ้น ตั้งแต่ร้อยละ 5 — 20 ขึ้นกับระดับความเข้มข้นในการใช้แรงงานตลอดสายโซ่การผลิต เช่น ระดับฟาร์ม ค่าจ้างแรงงานก็มีต้นทุนเพิ่มขึ้น การเก็บเกี่ยว ตัดแต่ง การขนส่ง การผลิตบรรจุภัณฑ์ ฉลาก ส่วนผสม การแปรรูป ธุรกิจค้าปลีก เมื่อนำต้นทุนที่ปรับเพิ่มจากทุกหน่วยมารวมกันจะทำให้ต้นทุนรวมสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหากผู้ผลิตไม่สามารถรับภาระนี้ได้ ก็ผลักออกมาเป็นทอดๆ สุดท้ายก็จะมาเป็นภาระของผู้ซื้อที่ต้องซื้อสินค้าในราคาสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็จะเกิดการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากมีการปรับค่าจ้างที่ไม่เท่ากันในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้แรงงงานอาจเคลื่อนย้ายไปในจังหวัดที่ได้ค่าแรงสูงกว่ามาก
ขณะที่มีแนวทางการปรับตัว โดยปรับลดจำนวนชั่วโมงทำงานล่วงเวลา จัดทำ Job analysis เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและทักษะการผลิตของแรงงาน จัดระบบ Manpower Management ออกนโยบายลดจำนวนวันทำงานภายใต้ Production output ที่กำหนดไว้ และเจรจาขอปรับราคาสินค้ากับลูกค้า กรณีโรงงานขนาดใหญ่เน้นเพิ่มการใช้เครื่องจักรในระบบผลิตมากขึ้น โดยในระยะยาวหากยังไม่มีความชัดเจนด้านสิทธิประโยชน์การลงทุน และมาตรการด้านภาษี อาจย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน" นายเพ็ชร กล่าว
อย่างไรก็ตาม นโยบายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ อาจจะส่งผลกระทบต่อนโยบายส่งเสริมการลงทุน และการจ้างงาน กล่าวคือ จะทำให้นโยบายส่งเสริมการลงทุนไปสู่ภูมิภาคด้อยประสิทธิภาพลงไป เพราะจะไม่จูงใจให้ภาคธุรกิจไปลงทุนในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าโดยมีตลาดหลักภายในประเทศจะเน้นลงทุนในหัวเมืองใหญ่เป็นหลักเพราะใกล้ตลาด ประหยัดค่าขนส่ง รวมทั้งประชาชนมีอำนาจซื้อสูง ขณะที่ธุรกิจที่เน้นส่งออกก็จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่ที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจ เช่น ใกล้ท่าเรือหรือแหล่งวัตถุดิบเพื่อความสะดวก ประหยัดเวลาและต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งภาครัฐอาจต้องให้สิทธิพิเศษมากขึ้นเพื่อจูงใจให้ภาคธุรกิจยังคงลงทุนในพื้นที่ที่ต้องการส่งเสริมต่อไปโดยไม่เคลื่อนย้ายไปที่อื่น นอกจากนี้ยังทำให้อุปสงค์ต่อแรงงานต่างด้าวจะสูงขึ้น เกิดปัญหาการไหลทะลักของแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย
นายเพ็ชร กล่าวต่อว่า ในระยะสั้นนโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ในระยะยาวเชื่อว่าภาคธุรกิจจะปรับตัวได้ ปัญหาคือควรมีแนวทางในการลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจในช่วงแรกของการดำเนินนโยบาย โดยเฉพาะมาตรการที่ช่วยลดภาระต้นทุนของภาคเอกชน ตัวอย่างเช่น การลดภาษีนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักร รวมทั้งวัตถุดิบบางประเภทที่ไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในประเทศ ให้สิทธิพิเศษหรืออัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำ เป็นต้น