นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่สถาบันอาหารได้ริเริ่มจัดทำโครงการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารของไทย หรือ Thailand Food Forward ขึ้น เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้โตอย่างก้าวกระโดด ด้วยการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรของไทย การเพิ่มผลผลิต รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าว สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เกิดขึ้นแล้วจำนวน 50 ผลิตภัณฑ์
สำหรับในปี 2555 นี้ สถาบันอาหาร ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์อาหารด้วยการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรของไทย การเพิ่มผลผลิต รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อีกครั้ง เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด ขณะเดียวกันก็มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มไปพร้อมกันด้วย อันจะเป็นการตอบโจทย์ที่ดีที่สุดในการรุกตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ท่ามกลางการแข่งขันในปัจจุบัน
เนื่องจากประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่เป็นแหล่งที่ผลิตอาหารได้มากเกินความต้องการบริโภคและมีการส่งออกไปจำหน่ายสร้างรายได้กลับเข้าประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี สินค้าเกษตรและอาหารจึงเป็นแหล่งรายได้หลักของประชากรในภูมิภาคนี้ ปัจจัยดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การเปิดตลาดอาหารอาเซียนทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะทุกประเทศก็ต้องการปกป้องภาคเกษตรและอาหารซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ของตน
นอกจากนี้ยังพบว่ามีอุปสรรคสำคัญในการเข้าสู่ตลาดอาเซียนของผู้ประกอบการอาหารไทยอยู่หลายประการ อาทิ ตลาดอาเซียนโดยรวมมีกำลังซื้อต่ำ เมื่อเทียบกับตลาดหลักในประเทศพัฒนาอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น หรือยุโรป ส่งผลให้สินค้าอาหารส่งออกของไทยไม่คุ้มค่าในการทำตลาด โดยเฉพาะสินค้ามูลค่าเพิ่ม ขณะที่ผู้ประกอบการไทยยังมีความรู้ความเข้าใจในตลาดอาเซียนค่อนข้างน้อย ทำให้ขาดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง รวมทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านการคมนาคมขนส่งที่ไม่สะดวก การพัฒนาระบบขนส่งให้เกิดความเชื่อมโยงในภูมิภาคยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ประสิทธิภาพยังไม่ดีพอ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขนส่งและกระจายสินค้า และหลายประเทศในอาเซียนยังมีอุปสรรคด้านการค้าที่มิใช่ภาษี(NTBs)อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละประเทศยังหาจุดร่วมในการลดอุปสรรคที่เป็น NTBs ไม่ชัดเจนเป็นรูปธรรม
“ปัจจุบันตลาดอาเซียนถือเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 20.6 คิดเป็นมูลค่าส่งออก 198,953 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 25.8 สินค้าหลักที่ไทยส่งออก เช่น ข้าว น้ำตาลทราย แป้งมันสำปะหลัง เครื่องดื่ม ผลไม้สด ครีมเทียม และขนมปังกรอบ เป็นต้น"
อนึ่ง ภาวะอุตสาหกรรมการส่งออกอาหารไทยปี 2554 มีปริมาณ 33.25 ล้านตัน มูลค่า 964,500 ล้านบาท ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 ปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัวสูงเนื่องจากความแปรปรวนของสภาพอากาศโลกทำให้หลายๆ ประเทศผลิตสินค้าอาหารได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการส่งออกสินค้าอาหารแทบทุกกลุ่มขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า โดยเฉพาะข้าว น้ำตาลทราย ผักผลไม้สดและผลไม้แปรรูป มีขยายตัวสูง โดยอาเซียน เป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย ตลาดในภูมิภาคอาเซียนถือเป็นรายได้สำคัญของผู้ประกอบการไทย สินค้าหลักที่ส่งออก เช่น ข้าว และแป้งมันสำปะหลัง ส่วนน้ำตาลทรายไทยส่งออกไปตลาดอาเซียนสูงถึงร้อยละ 40-50 สำหรับญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 2 ของไทย มีสัดส่วนร้อยละ 14.6 มูลค่าส่งออกรวม 140,862 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 21.3 สินค้าหลักที่ส่งออก เช่น ไก่แปรรูป กุ้ง ข้าว น้ำตาลทราย ทูน่ากระป๋อง เป็นต้น ขณะที่สหรัฐอเมริกา เป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 3 ของไทย มีสัดส่วนร้อยละ 12.8 มูลค่าส่งออกรวม 123,452 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.3 สินค้าหลักที่ส่งออก เช่น กุ้งแช่แข็งและกุ้งแปรรูป ทูน่ากระป๋อง ข้าวหอมมะลิ สับปะรดกระป๋อง และน้ำผลไม้ เป็นต้น