นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การเตรียมการรองรับการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซีที่จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบในปี 2558 นั้น กระทรวงเกษตรฯ ได้พิจารณาเห็นว่าควรมีทั้งมาตรการเชิงรับและเชิงรุก โดยมาตรการเชิงรับ ได้แก่ การตั้งเงื่อนไขการนำเข้า เช่น การกำหนดช่วงเวลานำเข้า การกำหนดด่านนำเข้า การกำหนดมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) รวมทั้งเข้มงวดการลักลอบการนำเข้า ทั้งนี้ ต้องระมัดระวังไม่ให้ขัดกับข้อตกลงด้วย และกรณีถ้ามีการลักลอบการนำเข้าก็จะต้องมีมาตรการทางกฎหมายอย่างจริงจัง หรือทางออกสุดท้ายก็คือ ถ้าคิดว่าสินค้าใดเราสู้ไม่ได้แน่นอนก็จะแนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรไปทำอย่างอื่นทดแทน โดยภาครัฐให้การช่วยเหลือสนับสนุนด้วย ขณะที่มาตรการเชิงรุก เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาคุณภาพสินค้า และการสร้างภาพลักษณ์สินค้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งการย้ายฐานการผลิตไปลงทุนในประเทศอาเซียนที่มีต้นทุนที่ถูกกว่า เพื่อนำเข้ามาใช้เป็นวัตถุดิบที่ขาดแคลนในประเทศ เช่น อาหารสัตว์ หรือส่งไปจำหน่ายในประเทศที่สาม เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดมาตรการในการป้องกันผลกระทบจาการเปิดเขตการค้าเสรีในเบื้องต้น ซึ่งนอกจากจะมีกองทุนเอฟทีเอสำหรับจัดทำโครงการหรือมาตรการรองรับเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน และมีการแต่งตั้งคณะทำงานที่มีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานเพื่อติดตามสถานการณ์การเปิดเสรีมาตั้งแต่ปี 2552 ไม่เฉพาะภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเท่านั้น แต่จะรวมถึงข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ภายใต้กรอบอื่นๆ ทั้งทวิภาคีและพหุภาคีด้วย ซึ่งจากการศึกษาโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพบว่า มูลค่าการค้า(ส่งออก + นำเข้า) ในปี 2553 ซึ่งเป็นปีแรกที่ไทยเปิดเสรีภายใต้กรอบ AEC จะสูงกว่าปี 2552 ถึง 29% โดยส่งออกเพิ่มขึ้น 32% นำเข้าเพิ่มขึ้น 16% ทำให้ดุลการค้า (ส่งออก - นำเข้า) เพิ่มขึ้น 38% ส่วนในปี 2554 เมื่อเทียบกับปี 2553 มูลค่าการค้าก็เพิ่มขึ้นถึง 25% ส่งออกเพิ่ม 24% นำเข้าเพิ่มขึ้น 32% ทำให้ดุลการค้าเพิ่มขึ้น 22% ดังนั้น จะเห็นว่า สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่น่ากลัวอย่างที่คิดกันว่าไทยจะเสียเปรียบมากขึ้น
ทั้งนี้ แม้จากข้อมูลจะบ่งชี้ว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไม่มากนัก และในทางตรงกันข้ามดูเหมือนว่าเราจะได้เปรียบเพิ่มมากขึ้น เพราะยังได้ดุลการค้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย แต่อาจจะเป็นเพราะเรายังมีมาตรการและเงื่อนไขควบคุมการนำเข้า ที่ไม่ใช่ภาษีไว้มากพอสมควร เช่น กำหนดเดือนที่นำเข้า กำหนดด่านที่นำเข้า กำหนดคุณภาพ/ ประเภทสินค้าที่นำเข้า เช่น ข้าว นำเข้าได้เฉพาะที่จะนำมา แปรรูปเท่านั้น เป็นต้น ทำให้มีความยุ่งยากต่อการนำเข้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศไทยจะต้องระมัดระวังเพราะอาจทำความไม่พอใจให้กับประเทศเพื่อนบ้านสมาชิกอาเซียนได้ หรืออาจนำมาเป็นประเด็นฟ้องร้องกันในภายหลังได้ ในทางตรงกันข้ามถ้าไม่มีมาตรการอะไรเลย ก็อาจกระทบต่อราคาผลผลิตในประเทศ เกษตรกรไทยเดือดร้อนจนเคยมีการปิดถนนเรียกร้องให้ยุติการนำเข้าจากต่างประเทศมาแล้ว เรื่องนี้จึงต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบด้วย
"เรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ "AEC" นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับภาครัฐหรือภาคเอกชน เพราะเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศภายใต้กฎบัตรอาเซียน มาตั้งแต่ปี 2550 ที่จะก่อให้เกิด "ประชาคมอาเซียน" ที่สมบูรณ์แบบในปี 2558 เช่นเดียวกับการก่อตั้ง "สหภาพยุโรป" หรือ "EU" แต่สำหรับบุคคลทั่วไปโดยเฉพาะเกษตรกรไทย ยังมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยมาก ดังนั้น จึงถือเป็นภารกิจสำคัญที่กระทรวงเกษตรฯ จะต้องเร่งสร้างองค์ความรู้ในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้แก่เกษตรกรโดยเร็ว เพื่อการปรับตัวและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตัวเกษตรกรเองได้ในอนาคต" นายธีระ กล่าว