พนักงานขนส่งมวลชนอิตาลีนัดหยุดงานประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล

ข่าวต่างประเทศ Friday April 20, 2012 20:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พนักงานขนส่งมวลชนของอิตาลีหลายพันคนได้เดินขบวนประท้วงในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เพื่อต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล ซึ่งพวกเขากล่าวหาว่า มาตรการรัดเข็มขัดเป็นความจงใจที่ะอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจในการปลดพนักงานออกได้ง่ายยิ่งขึ้น

นางซูซานนา คามัสโซ ผู้นำในการประท้วงได้เรียกร้องให้มีการหยุดงานประท้วงทั่วไป หากนายกรัฐมนตรีมาริโอ มอนติ ไม่ยกเลิกมาตรการดังกล่าว

ทั้งนี้ พนักงานที่ร่วมเดินขบวนประท้วงไปยังย่านใจกลางของกรุงโรมประกอบไปด้วยพนักงานที่ให้บริการรถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน ส่งผลให้การจราจรในช่วงเช้าของอิตาลีต้องสะดุดลง

นอกจากนี้ กลุ่มพนักงานขนส่งมวลชนในเมืองอื่นๆ ของอิตาลียังได้ร่วมหยุดงานประท้วงด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มพนักงานและนายจ้างต่างก็ระบุว่า นายมอนติประสบความล้มเหลวในการสร้างงาน ในขณะที่เศรษฐกิจอิตาลียังคงอยู่ในภาวะถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง

อัตราว่างงานในอิตาลีพุ่งขึ้นแตะ 9.3% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2544 จากระดับ 9.1% ในเดือนม.ค. ขณะที่จำนวนคนว่างงานอยู่ที่ 2.3 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2547

ในช่วงต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลอิตาลีได้อนุมัติมาตรการปฏิรูปด้านแรงงาน โดยนายกรัฐมนตรีมอนติ กล่าวว่า การปฏิรูปดังกล่าวจะช่วยลดการว่างงานและดึงดูดนักลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอิตาลี ซึ่งประสบกับภาวะถดถอย

ร่างกฎหมายดังกล่าวครอบคลุมถึงการเพิ่มสวัสดิการว่างงาน การลดสัญญาการทำงานชั่วคราว และเพิ่มความยืดหยุ่นเรื่องการไล่พนักงานออก ซึ่งมาตรการสุดท้ายนี้ถูกคัดค้านจากพรรคประชาธิปไตยกลาง-ซ้าย ซึ่งเป็นกำลังสนับสนุนหลักทางการเมืองของรัฐบาลนายมอนติ รวมถึง CGIL ซึ่งเป็นกลุ่มสหภาพการค้าที่ใหญ่ที่สุดของอิตาลี เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้การไล่พนักงานออกเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายขึ้น

นายกฯมอนติกำลังดำเนินมาตรการลดรายจ่ายและขึ้นภาษี เพื่อลดยอดขาดดุลงบประมาณในปีหน้า และลดหนี้สาธารณะซึ่งอยู่ในระดับสูงถึง 1.9 ล้านล้านยูโร อย่างไรก็ดี มาตรการเหล่านี้กำลังส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยคณะกรรมาธิการยุโรปคาดว่า เศรษฐกิจอิตาลีจะหดตัว 1.3% ในปีนี้


แท็ก อิตาลี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ