นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เมื่อวานนี้ขานรับคำมั่นสัญญาของประเทศสมาชิกในการเพิ่มศักยภาพการปล่อยกู้ของไอเอ็มเอฟกว่า 4.30 แสนล้านดอลลาร์ โดยระบุว่า นั่น"เป็นสัญญาณความมุ่งมั่นที่แข็งแกร่งของประชาคมโลกในการสร้างเสถียรภาพการเงินโลก
"การตอบรับในวงกว้างต่อการเรียกร้องของเราสำหรับทุนทรัพย์เพิ่มเติม จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยจะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกของเราทุกประเทศ"นางลาการ์ดระบุในแถลงการณ์ หลังรมว.คลังจากกลุ่มประเทศชั้นนำจี-20 เสร็จสิ้นการประชุมเป็นเวลา 2 วัน ที่กรุงวอชิงตัน
ในจำนวนคำมั่นสัญญา 4.30 แสนล้านดอลลาร์นั้น ยูโรโซนระบุว่า จะจัดสรรทุน 1.50 แสนล้านยูโร หรือราว 2 แสนล้านดอลลาร์ คำมั่นสัญญาจากญี่ปุ่นถึงเงินทุนที่ระดับ 6 หมื่นล้านดอลลาร์เป็นจำนวนมากที่สุดจากประเทศหนึ่งๆ
แม้ว่ามีคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ประเทศเกิดใหม่บางประเทศ อาทิ จีนและอินเดีย จะยังไม่แสดงการสนับสนุนสำหรับการเพิ่มทุนทรัพย์ของไอเอ็มเอฟ แต่ประเทศเหล่านั้นก็ตกลงที่จะอยู่ในกลุ่มประเทศที่จ่ายเงินสมทบเช่นกัน
"ดิฉันยินดีเช่นกันที่จีน, รัสเซีย, บราซิล, อินเดีย, มาเลเซีย และไทย รวมทั้งประเทศอื่นๆ ต่างก็บ่งชี้ว่าจะอยู่ในกลุ่มผู้จ่ายเงินสมทบ" นางลาการ์ดกล่าว
นายนาโอยูกิ ชิโนฮาระ รองผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟยินดีกับคำมั่นจากประเทศสมาชิกไอเอ็มเอฟ โดยระบุว่าเป็น"ความคืบหน้าที่สำคัญ"ในการสนับสนุนทุนทรัพย์ของไอเอ็มเอฟ
ขณะที่ไอเอ็มเอฟมีศักยภาพมากขึ้นในการต้านวิกฤติหนี้ยูโรโซนและความผันผวนทางการเงินอื่นๆ แต่นายชิโนฮาระกล่าวว่า ความมุ่งมั่นอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาในยุโรปอย่างเต็มที่
"สภาพเศรษฐกิจในยุโรปยังคงเปราะบาง แม้ว่านี่เป็นความคืบหน้าที่สำคัญ แต่ก็จะไม่ทำให้วิกฤติสิ้นสุดลง" เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเกียวโด
กลุ่มประเทศยุโรปจำเป็นต้องพยายามต่อไปในการจัดการกับสิ่งท้าทายต่างๆ อาทิ การลดยอดขาดดุลงบประมาณ, การหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการส่งเสริมการปฏิรูปภาคธนาคาร นายชิโนฮาระกล่าว