นายกีตา วีร์จาวาน ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านการลงทุนของอินโดนีเซียเปิดเผยว่า อินโดนีเซียสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้น 30.3% สู่ระดับ 51.5 ล้านล้านรูเปียห์ (5.6 พันล้านดอลลาร์) ในไตรมาสแรกปีนี้ เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่บริษัทมูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ได้ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นสู่ระดับน่าลงทุนเป็นครั้งที่ 2
นายวีร์จาสาคาดว่า เม็ดเงิน FDI จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวเช่นเดียวกัน
"ด้วยการพัฒนาอย่างรวดเร็วในด้านสาธารณูปโภค เรามั่นใจว่าการลงทุนจากต่างประเทศจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นในอนาคต" เขากล่าว
รัฐบาลอินโดนีเซียได้เริ่มใช้แผนแม่บทสำหรับการพัฒนาในระยะยาวเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2554 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเร่งพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคของประเทศ และลดช่องว่างระหว่างพื้นที่ต่างๆ ของประเทศซึ่งเต็มไปด้วยเกาะต่างๆ
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลอินโดนีเซียกำหนดเป้าหมายอัตราการขยายตัวต่อปีของเศรษฐกิจเอาไว้ที่ 6.6% ภายในปี 2557 เพื่อลดปัญหาความยากจน และคาดว่าอินโดนีเซียต้องการเงินลงทุนจากนักลงทุนประมาณ 2 ใน 3 ของกองทุนจำนวน 2 แสนล้านดอลลาร์ สำหรับโครงการด้านสาธารณูปโภค
สำหรับปีนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าดึงดูดเม็ดเงิน FDI เพิ่มขึ้น 18% สู่ระดับ 206.8 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 2.226 หมื่นล้านดอลลาร์)
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียได้รับการปรับอันดับความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นจากบริษัทฟิทช์ เรตติ้ง ตามมาด้วยการปรับอันดับเพิ่มขึ้นโดยมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ในวันที่ 18 มกราคม ปีนี้ ส่งผลให้อินโดนีเซียมีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกับอินเดียและบราซิล สำนักข่าวซินหัวรายงาน