ที่ประชุมเศรษฐกิจโลก หรือ เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม (WEF) เตือนว่า หากญี่ปุ่นยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ลงอย่างรวดเร็ว ก็อาจทำให้ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศตกอยู่ในภาวะเสี่ยง โดยในการนี้ที่ประชุมได้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นหันมาเสริมความปลอดภัยในระยะยาวให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แทน
WEF ซึ่งเป็นองค์กรที่รู้จักกันดีในฐานะผู้จัดประชุมกลุ่มผู้นำทางธุรกิจและการเมืองประจำปีที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้เรียกร้องให้มีการสร้างความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับประกันความเป็นอิสระของหน่วยงานกำกับดูแลด้านพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้สำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
WEF ระบุในรายงานว่า เหตุภัยพิบัติที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจิของบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในเดือนมีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ได้สร้างความวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มากขึ้น ทั้งยังส่งผลให้ประชาชนและผู้กำหนดนโยบายตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับนโยบายพลังงานของประเทศ
อย่างไรก็ตาม WEF เตือนว่า การหันเหจากนโยบายพลังงานปัจจุบันอย่างรวดเร็วนั้น จะสร้างความเสียหายต่อความมั่นคงทางพลังงานของญี่ปุ่น และทำให้ประเทศต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานฟอสซิลมากขึ้น พร้อมกับเสริมว่า การเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนนั้นจำเป็นต้องอาศัยการลงทุนขนาดใหญ่
ในขณะเดียวกัน รายงานดังกล่าวยังแย้งด้วยว่า ญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ยังไม่พร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานทาง "สถาปัตยกรรมพลังงาน" เช่น ในด้านการบริโภคพลังงานของโลก ที่มีการคาดการณ์ว่าระดับการบริโภคจะเพิ่มขึ้น 40% ในช่วงปี 2551 ถึง 2578
นอกจากนี้รายงานยังระบุด้วยว่า หลายประเทศจำต้องลดการพึ่งพิงพลังงานฟอสซิลเพื่อรับมือกับปัญหาสภาวะโลกร้อน