สกุลเงินยูโรร่วงลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (23 เม.ย.) หลังจากมีรายงานว่า ตัวเลขหนี้สินของประเทศยูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้น และข่าวนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ประกาศลาออก อันเนื่องมาจากความขัดแย้งเกี่ยวกับมาตรการรัดเข็มขัดฉบับใหม่
ค่าเงินยูโรร่วงลง 0.51% แตะที่ 1.3154 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันศุกร์ที่ 1.3221 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินปอนด์ขยับขึ้น 0.02% แตะที่ 1.6127 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.6124 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินปอนด์ดีดตัวขึ้น 0.02% แตะที่ 1.6127 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.6124 ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลง 0.47% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 81.160 เยน จากระดับ 81.540 เยน และดีดตัวขึ้น 0.56% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9137 ฟรังค์ จากระดับ 0.9086 ฟรังค์
ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลง 0.63% แตะที่ 1.0312 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0377 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ดิ่งลง 0.65% แตะที่ 0.8134 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.8187 ดอลลาร์สหรัฐ
สกุลเงินยูโรร่วงลงหลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยในวันนี้ว่า 17 ชาติสมาชิกยูโรโซนยังคงเผชิญกับความยากลำบากในการควบคุมหนี้ แม้ว่ารัฐบาลสามารถลดยอดขาดดุลงบประมาณลงมาอยู่ที่ระดับ 4.1% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจในปี 2554 จากระดับ 6.2% ของจีดีพีในปี 2553 ก็ตาม
ข้อมูลของยูโรสแตทระบุว่า มาตรการรัดเข็มขัดที่เข็มงวดได้ส่งผลต่อยอดขาดดุลงบประมาณดังกล่าว แต่ถึงกระนั้นตัวเลขหนี้สินโดยรวมของประเทศยูโรโซนกลับเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.3% ของจีดีพี เป็น 87.2% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่มีการรวมตัวกันของยูโรโซนในปี 2542
ทั้งนี้ สาธารณรัฐไอร์แลนด์ กรีซ และสเปน เป็น 3 ประเทศที่มียอดขาดดุลงบประมาณสูงสุด โดยยอดขาดดุลงบประมาณของไอร์แลนด์อยู่ที่ 13.1% ของจีดีพี, กรีซอยู่ที่ 9.1% และสเปนอยู่ที่ 8.5% ของจีดีพี
นอกจากนี้ ยูโรยังได้รับแรงกดดันจากข่าวที่ว่า นายมาร์ค รัทเทอ นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศยุโรปที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่ไม่สามารถควบคุมการขาดดุลงบประมาณภายในประเทศ ได้ยื่นหนังสือลาออกต่อสมเด็จพระราชินีเบียทริซแล้วในวันนี้ หลังจากที่รัฐบาลไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับแผนการลดยอดขาดดุลงบประมาณให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของสหภาพยุโรป (อียู)
สำนักงานสารนิเทศของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์เปิดเผย่วา สมเด็จพระราชินีเบียทริซทรงยอมรับการลาออกของนายกรัฐมนตรีรัทเทอและคณะรัฐมนตรีแล้ว และนายรัทเทอมีกำหนดที่จะแถลงต่อรัฐสภาเนเธอร์แลนด์ในวันพรุ่งนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการเฉพาะกาลในการรักษาสถานะการคลังและเพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของอิตาลีร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 15 ปี ในเดือนเม.ย. เนื่องจากมาตรการรัดเข็มขัดที่นายกรัฐมนตรี มาริโอ มอนติ ได้นำมาใช้นั้น ยิ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศประสบภาวะถดถอยรุนแรงขึ้นไปอีก
ทางการสหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในคืนนี้ตามเวลาไทย โดยสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์/เคส ชิลเลอร์เปิดเผยราคาบ้านเดือนก.พ. ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยยอดขายบ้านใหม่เดือนมี.ค.
นักลงทุนจับตาดูการประชุมและคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เอฟโอเอ็มซี) ในวันที่ 24-25 เม.ย. ซึ่งมีการคาดการณ์ในวงกว้างว่า เอฟโอเอ็มซีจะตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ 0-0.25%