นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้มีมติให้ความเห็นชอบการปรับปรุงโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้คงค้างต่ำกว่า 500,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล พร้อมทั้งขยายกลุ่มเป้าหมายของโครงการ
โครงการพักหนี้ฯ ได้เริ่มดำเนินการระยะแรกเมื่อวันที่ 15 พ.ย.54 ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการพักหนี้ให้กับประชาชนที่มีความเดือดร้อนเร่งด่วนและมีปัญหาการชำระหนี้โดยเน้นช่วยเหลือประชาชนที่มีหนี้คงค้างไม่เกิน 500,000 บาท ในสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 6 แห่ง รวมประชาชนผู้มีสิทธิทั้งหมด775,090 ราย ตั้งแต่เริ่มเปิดตัวโครงการจนถึง 15 เม.ย.55 มีประชาชนมายื่นความจำนงแล้ว 661,508 ราย คิดเป็น 85.35% ของจำนวนประชาชนที่มีสิทธิทั้งหมด ในจำนวนนี้ได้รับการอนุมัติแล้ว 428,384 ราย คิดเป็น 55.27% ของประชาชนที่มีสิทธิทั้งหมด หรือ 64.76% ของประชาชนที่มายื่นความจำนง มูลหนี้ที่ได้รับการดูแลแล้ว 52,301,87 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการดูแลปัญหาภาระหนี้สินของประชาชนอย่างต่อเนื่องและบรรเทาความเดือดร้อนด้านการเงินให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายอย่างครอบคลุม รัฐบาลจึงได้มีมติปรับปรุงโครงการพักหนี้ฯ ไปพร้อม ๆ กับขยายกลุ่มเป้าหมายไปสู่ประชาชนกลุ่มที่มีหนี้ในสถาบันการเงินเฉพาะกิจไม่เกิน 500,000 บาทที่มีสถานะหนี้ปกติ
ครม.เห็นชอบปรับปรุงโครงการพักหนี้เดิมที่กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนที่เข้าใช้สิทธิโครงการนี้มีความเข้มแข็งและเพิ่มศักยภาพในการชำระหนี้โดยกำหนดให้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจต้องเข้าดูแลประชาชนที่เข้าร่วมโครงการพักหนี้ฯ ให้ได้รับการฟื้นฟูศักยภาพจนสามารถเริ่มชำระหนี้คืนตามแผนชำระหนี้ใหม่ได้หลังจาก 12 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดการฟื้นฟูลูกหนี้แต่ละราย ลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดจะยังได้รับสิทธิจากโครงการเช่นเดิมให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ได้รับการชดเชยต้นทุนเงินจากรัฐบาล นำเงินชดเชยไปขยายวงเงินสินเชื่อใหม่สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)
นอกจากนี้ ให้รางวัลประชาชนที่เป็นลูกหนี้ที่มีสถานะหนี้ปกติที่มีหนี้ไม่เกิน 500,000 บาท ก่อนวันที่ 24 เม.ย.55 ในสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยต้องไม่เป็นหนี้ประเภทสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อ/ลิสซิ่ง สินเชื่อสำหรับผู้มีรายได้ประจำและไม่เป็นลูกหนี้ที่ได้รับการลดอัตราดอกเบี้ยหรือได้รับอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษตามข้อตกลงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
นายกิตติรัตน์ ระบุว่า การขยายกลุ่มเป้าหมายสู่ลูกหนี้สถานะหนี้ปกตินี้คาดว่าจะมีประชาชนที่เป็นเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยได้รับประโยชน์จากโครงการพักหนี้ฯ เพิ่มอีก 3,758,226 รายหรือบัญชี คิดเป็นมูลหนี้คงค้าง 459,113.05 ล้านบาท
สำหรับประชาชนกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ ดังกล่าว สามารถสมัครใจเข้าใช้สิทธิตามโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้คงค้างต่ำกว่า 500,000 บาท ดังนี้ 1)เลือกพักเงินต้นและลดอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อที่มีอยู่เดิมในอัตรา 3% ต่อปี หรือ ลดอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อที่มีอยู่เดิมในอัตรา 3% ต่อปีโดยไม่พักเงินต้น เป็นระยะเวลา 3 ปี(ระหว่าง 1 ก.ย.55-31 ส.ค.58)
2) มีสิทธิขอกู้เพิ่มใหม่ได้ตามความสามารถในการชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน ณ วันที่ได้รับอนุมัติการกู้เพิ่ม 3) ลูกหนี้ต้องไม่ผิดนัดชำระหนี้หลังเข้าโครงการฯ
นอกจากนี้ ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการพักหนี้ฯ ตามโครงการระยะแรกสามารถขอเปลี่ยนเข้าร่วมโครงการพักหนี้ใหม่สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะหนี้ปกตินี้ได้ โดยแสดงความจำนงกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เป็นเจ้าหนี้เพื่อแสดงเจตนาเปลี่ยนสถานะหนี้ให้เป็นสถานะหนี้ปกติก่อนเข้าร่วมโครงการฯ ระหว่างวันที่ 2 พ.ค.-20 ส.ค.55
ทั้งนี้ รัฐบาลคาดว่าผลจากโครงการพักหนี้ฯ ที่เสนอในครั้งนี้ จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 0.4-0.7% ต่อปี หรือ 44,000-77,000 ล้านบาท/ปี
อย่างไรก็ตาม จะมีการดูแลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการพักหนี้ฯ อย่างรอบคอบไม่ว่าจะเป็น การขาดวินัยทางการเงินของลูกหนี้ โดยกำหนดให้ภายหลังจากลูกหนี้เข้าโครงการแล้วหากมีการผิดนัดชำระหนี้ตามเงื่อนไขใหม่ ลูกหนี้จะต้องออกจากโครงการทันที กระทรวงการคลังจะแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่แนะนำและติดตามดูแลการใช้เงินของลูกหนี้ที่ประหยัดได้จากการเข้าโครงการครั้งนี้
รมว.คลัง กล่าวว่า การบรรเทาและช่วยเหลือผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ กระทรวงการคลังจะชดเชยรายได้ดอกเบี้ยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อปี และจัดหาแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำและแหล่งเงินเพิ่มทุนเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดจากการดำเนินการ รวมถึงแยกบันทึกบัญชีการดำเนินงานตามโครงการนี้ออกจากการดำเนินงานปกติ (Public Service Account : PSA) เพื่อประเมินผลกระทบอย่างโปร่งใสต่อไป