ครม.อนุมัติมาตรการการเงิน-ภาษีช่วย SMEs ลดภาระต้นทุนค่าแรง-เพิ่มขีดความสามารถ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 24, 2012 16:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการ SMEs ผ่านมาตรการทางการเงินและมาตรการทางภาษี ทั้งนี้เพื่อช่วยสนับสนุนการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการลดภาระต้นทุนค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในช่วงปลายปีที่ผ่านมาด้วย

สำหรับมาตรการทางการเงิน ประกอบด้วย 1.โครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) เป็นโครงการสินเชื่อเพื่อให้ SMEs ไปใช้ในการพัฒนาเครื่องจักรหรือกระบวนการทำงาน วงเงินในโครงการรวม 20,000 ล้านบาท

ระยะเวลากู้ยืมสูงสุด 7 ปีสำหรับสินเชื่อเพื่อพัฒนาเครื่องจักร และระยะเวลา 5 ปีสำหรับสินเชื่อเพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน สินเชื่อทั้ง 2 ประเภทมีอัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรกอยู่ที่ MLR-3 ส่วนปีที่ 3 เป็นต้นไปอยู่ที่ MLR และให้วงเงินกู้ยืมสูงสุดต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท ไมต้องมีหลักประกัน

2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 4 โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) เป็นการค้ำประกันสินเชื่อที่สถาบันการเงินปล่อยให้กับ SMEs ที่มีศักยภาพแต่มีหลักประกันไม่เพียงพอในลักษณะ Portfolio โดยมีวงเงินค้ำประกันรวม 24,000 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุด 5 ปี วงเงินค้ำประกันสูงสุดต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% ต่อปีของยอดค้ำประกันคงค้าง

3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ โดยบสย.เช่นกัน เป็นการค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ SMEs ที่เพิ่งเริ่มกิจการใหม่ไม่เกิน 2 ปี ในลักษณะ Portfolio วงเงินค้ำประกันรวม 10,000 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุด 7 ปี วงเงินค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2.5% ต่อปีของยอดค้ำประกันคงค้าง โดยรัฐบาลจะจ่ายชดเชยค่าธรรมเนียมให้ในปีแรก

4.กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยให้ SMEs กู้ยืมเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมในอัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี วงเงินกู้ยืมสูงสุดต่อรายไม่เกิน 42,000 บาท ระยะเวลากู้ยืมสูงสุด 4 ปี ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถติดต่อกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ภายใน 31 ธ.ค.55

5.โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการทำงาน(ผ่านกองทุนประกันสังคม) ให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อที่มีเงื่อนไขผ่อนปรน(โดยอาศัยแหล่งเงินทุนจากกองทุน)ให้กับ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นสำหรับใช้เป็นทุนในการเสริมสภาพคล่องหรือเพิ่มผลิตภาพการผลิต เพื่อเป็นการรักษาการจ้างงานไว้ โครงการนี้มีวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินกู้ยืมสูงสุดต่อรายไม่เกิน 4 ล้านบาทขึ้นอยู่กับจำนวนการจ้างงาน

สำหรับมาตรการทางภาษี ประกอบด้วย 1.มาตรการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนที่เป็นเงินได้มาจากการขายเครื่องจักรเก่าเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ มีระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์สำหรับการขายเครื่องจักรตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.55 - 31 ธ.ค.55

2.มาตรการหักค่าเสื่อมเครื่องจักร โดยให้หักค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรใหม่ได้ 100% ในปีแรก มีระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์สำหรับการหักค่าเสื่อมเครื่องจักร ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.55 - 31 ธ.ค.55

3.มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ โดยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่าของส่วนต่างค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 300 บาท/วัน ระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ตั้งแต่เริ่มใช้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทตามที่รัฐประกาศ(1 เม.ย.55) - 31 ธ.ค.55

ทั้งนี้ SMEs ที่เข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว หมายถึง 1.นิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 30 ล้านบาท/ปี มีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 2 แสนราย และ 2.บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้เข้าข่ายตามมาตรา 40(5) (6) (7) (8) จำนวนทั้งสิ้นกว่า 5 แสนราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ