นายอนันต์ เมืองมูลไชย รองประธานมูลนิธิเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เปิดเผยภายหลังมอบคู่มือการตรวจสอบสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์ทางยาแก่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้นำไปปรับปรุงระบบการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรว่า มูลนิธิฯ ต้องการให้กรมฯตรวจสอบบริษัทผลิตยาที่ยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรในไทย และได้รับการคุ้มครองแบบไม่มีวันสิ้นสุดระยะเวลา(เอเวอร์กรีนนิ่ง) จากปกติยาที่มีสิทธิบัตรจะได้รับการคุ้มครอง 20 ปี จนส่งผลให้ยามีราคาแพง และผู้ป่วยในไทยโดยเฉพาะคนที่มีรายได้ต่ำไม่สามารถเข้าถึงยา และต้องเสียชีวิตทั้งที่ไม่จำเป็น
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า คำขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ทางยา ปี 43-53 ที่มี 2,034 ฉบับนั้น มีถึง 96% อยู่ในเงื่อนไขเป็นสิทธิบัตรเอเวอร์กรีนนิ่ง เพราะบริษัทผู้ผลิตยาได้ปรับปรุงยาตัวใหม่เข้าไปในยาตัวเดิมเพื่อให้เกิดตัวยาสูตรใหม่ แต่ไม่ได้มีผลต่อการรักษา เช่น ปรับส่วนผสม ปรับส่วนประกอบเพียงเล็กน้อย แล้วมาขอจดสิทธิบัตรใหม่ ทำให้ได้รับการขยายการคุ้มครองเพิ่มขึ้น
"สิทธิบัตรเอเวอร์กรีนนิ่งเป็นอุปสรรคใหญ่ของการเข้าไม่ถึงยา โดยผู้ผลิตยาแอบเปลี่ยนสูตรใหม่เล็กน้อย แล้วยื่นขอสิทธิบัตรใหม่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งกรรมการยาแห่งชาติไม่บรรจุยาเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพไม่สามารถจ่ายยาได้ ราคายาจึงสูงอย่างไม่สมเหตุสมผล และการกำหนดราคายาไม่เคยชี้แจงโครงสร้างราคาให้ได้รู้" นายอนันต์กล่าว
ด้านนางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ขณะนี้มีการยื่นขอสิทธิบัตรยากว่า 4,000 คำขอ และได้ประกาศโฆษณาแล้ว หากไม่มีผู้คัดค้านก็จะได้รับการจดสิทธิบัตร โดยกรมฯ ยืนยันว่าได้มีการตรวจสอบการยื่นขอจดสิทธิบัตรอย่างเต็มที่ ทั้งการยื่นคำขอจดสิทธิบัตรใหม่ รวมถึงสิทธิบัตรเดิมที่มีการปรับปรุงการประดิษฐ์ขั้นสูงขึ้น อีกทั้งยังได้นำคำร้องของมูลนิธิฯ มาใช้ประกอบในการพิจารณาด้วย