In Focusตรวจอาการ“สเปน" หรือสัญญาณชีพจรแผ่วจนต้องพึ่งเครื่องช่วยหายใจ?

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 25, 2012 13:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลังจากที่ทั่วโลกถอนหายใจด้วยความโล่งอกไปเฮือกใหญ่ เมื่อกรีซสามารถเอาตัวรอดจากการผิดนัดชำระหนี้ได้อย่างหวุดหวิดกับกำหนดเส้นตายในการไถ่ถอนพันธบัตรที่ครบกำหนดมูลค่า 1.45 หมื่นล้านยูโร (1.85 หมื่นล้านดอลลาร์) เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา จากการระดมสรรพกำลังและสติปัญญาและความสามารถของนานาประเทศในการทุ่มเทให้ความช่วยเหลือกรีซ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า หากกรีซผิดนัดชำระหนี้จนอาจถึงขั้นต้องกระเด็นออกจากกลุ่มยูโรโซน ก็จะหมายถึงการฉุดรั้งเศรษฐกิจและภาพลักษณ์โดยรวมของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและสกุลเงินระดับภูมิภาคที่สำคัญของโลก

เมื่อวันที่ 12 มี.ค.รัฐมนตรีคลังยูโรโซน หรือยูโรกรุ๊ป ได้ตัดสินใจอย่างเป็นทางการว่า ยูโรโซนจะอนุมัติเงินช่วยเหลือรอบที่ 2 แก่กรีซ วงเงินรวม 1.30 แสนล้านยูโรสำหรับช่วงปี 2555-2557 หลังจากที่กรีซได้เสร็จสิ้นการแลกเปลี่ยนพันธบัตรมูลค่า 1.772 แสนล้านยูโร (2.325 แสนล้านดอลลาร์) แล้ว โดย การแลกเปลี่ยนพันธบัตรเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่รัฐบาลกรีซได้ทำร่วมกับเจ้าหนี้ภาคเอกชน โดยพันธบัตรชุดใหม่จะมีอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วลดลงและมีอายุการไถ่ถอนนานขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาระหนี้สินของกรีซลดลงกว่า 1 แสนล้านยูโร และจะช่วยให้กรีซรอดพ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ที่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงไปทั่วภูมิภาคและทั่วโลกได้

แต่หลังจากนั้นไม่นาน สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของยูโรโซนกลับดูเหมือนจะส่อเค้าลางที่ไม่สู้ดีนัก เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยออกมาไม่ได้ส่งสัญญาณว่ายูโรโซนผ่านพ้นวิกฤติไปแล้ว มิหนำซ้ำยังกลับจะยิ่งเลวร้ายหนักว่าเดิม เมื่อหลายฝ่ายเพ่งความสนใจไปที่ “สเปน" อดีตมหาอำนาจทางทะเลซึ่งเคยสร้างความหวาดหวั่นแก่ประเทศที่อ่อนแอในยุคล่าอาณานิคมเรืองอำนาจ ทว่าในวันนี้สเปนได้เขย่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกว่า สเปนอาจเป็นประเทศต่อไปที่มีสิทธิจะเดินรอยตามกรีซ

ด้วยเหตุที่สเปนมิใช่เพียงประเทศรายย่อยขนาดเล็กในยูโรโซนเช่นเดียวกับกรีซ หากแต่เป็ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของภูมิภาค ดังนั้น ปัญหาใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสเปนก็ย่อมส่งแรงกระเพื่อมต่อยูโรโซนได้รุนแรงหนักหน่วงกว่าวิกฤติหนี้กรีซมากมายนัก และยังเป็นชนวนให้ทั่วโลกต้องกลับมากุมขมับกันอีกครั้งว่าแท้จริงแล้วเศรษฐกิจยูโรโซนยังมีอาการสาหัสอยู่มาก ขณะที่หนึ่งในอวัยวะสำคัญอย่างสเปน ก็ออกอาการร่อแร่เต็มที

ผลพวงจากภาวะฟองสบู่แตกในอสังหาริมทรัพย์ปี 2551

จะว่าไปแล้วสเปนก็ไม่แตกต่างจากประเทศอื่นๆที่ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้น หากแต่เป็นผลกระทบที่เรื้อรังมาตั้งแต่วิกฤติการเงินโลกในปี 2551 ภาวะฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสเปนได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในหลายด้าน และจนถึงปัจจุบันนี้ สถานการณ์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์สเปนก็ยังไม่ได้กระเตื้องขึ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์นับว่าเป็นกลจักรสำคัญที่มีส่วนผลักดันเศรษฐกิจของสเปน แต่ก็พร้อมจะฉุดรั้งเศรษฐกิจได้มากพอกัน พอร์ทการลงทุนของภาคธนาคารจำนวนไม่น้อยก็อยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น เมื่อยุคเฟื่องฟูของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สเปนถึงคราวล่มสลาย จึงฉุดกระชากภาคธนาคารให้ซวนเซตามกันไปด้วย โดยนักวิเคราะห์มองว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัยในสเปนร่วงลงมาแล้ว 22% จากระดับสูงสุดที่เคยทำไว้ในยุคตลาดรุ่งเรืองเมื่อปี 2550 และมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวลงต่อไปอีก 20-25%

ภาคธนาคารกับฐานะที่ง่อนแง่น

การปรับตัวลงของราคาสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ส่งผลกระทบต่อมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ในงบดุลของธนาคารพาณิชย์สเปน ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 3 แสนล้านยูโร หรือมีสัดส่วนกว่า 37% ของจีดีพีสเปน ตราบใดที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ฟื้น จึงเป็นเรื่องยากที่ภาคธนาคารจะกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง ขณะที่ดูเหมือนว่าจะมีแรงหนุนจากมาตรการจัดสรรสภาพคล่องระยะยาว (LTRO) ของธนาคารกลางยุโรป หรือการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ 1% เป็นระยะเวลา 3 ปีแก่ธนาคารพาณิชย์ในยูโรโซน ซึ่งมีการดำเนินการ 2 ช่วงเมื่อปลายเดือนธ.ค.2554 และปลายเดือนก.พ.2555 ที่ผ่านมา แต่กลายเป็นว่าธนาคารพาณิชย์สเปนได้นำเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล เช่นเดียวกันกับที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศอื่นๆที่ใช้วงเงินกู้ดังกล่าวเพื่อซื้อพันธบัตรของประเทศตนเอง เพราะให้ผลตอบแทนที่ดีมากเฉียด 6% โดยหนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทม์สเปิดเผยว่า ในช่วงปลายปี 2554 ถึงเดือนก.พ.2555 ซึ่งเป็นช่วงที่อีซีบีใช้มาตรการ LTRO นั้น ธนาคารพาณิชย์ของสเปนมีการถือครองพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นกว่า 6 หมื่นล้านยูโร

การที่ภาคธนาคารของสเปนเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอาจจะส่งผลดีในแง่ที่ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมพันธบัตรลดลง แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงโดยการทำให้สถานะของธนาคารผูกติดอยู่กับอนาคตของรัฐบาล จึงกลายเป็นว่านอกเหนือจากสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ย่ำแย่แล้ว ภาคธนาคารสเปนยังถือพันธบัตรรัฐบาลที่มีความเสี่ยงที่จะก่อปัญหาในอนาคตอีกด้วย

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ธนาคารกลางสเปนได้อนุมัติแผนการเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์สเปนทั้ง 135 แห่ง พร้อมเตือนว่าธนาคารที่มีฐานะการเงินย่ำแย่อาจถูกบีบให้เผชิญการควบรวมกิจการจากธนาคารที่มีฐานะมั่นคงกว่า อันเนื่องมาจากเงื่อนไขที่เข้มงวดที่รัฐบาลกำหนดไว้สำหรับธนาคารพาณิชย์ดังกล่าว หลังจากรัฐบาลสเปนคาดไว้ในเดือนก.พ.ว่าอาจะต้องมีการเพิ่มทุนราว 5.38 หมื่นล้านยูโร (7.07 หมื่นล้านดอลลาร์) ในภาคการธนาคารของสเปน แต่ก็มีแนวโน้มว่าธนาคารพาณิชย์อาจต้องเพิ่มทุนมากกว่านั้น เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังตกต่ำ

และเพียง 1 วันถัดมาในวันที่ 18 เม.ย. ธนาคารสเปนก็ออกมาตอกย้ำบาดแผลด้วยการเปิดเผยว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หรือเรียกง่ายๆว่า “หนี้เสีย" ในภาคการธนาคารของสเปนในเดือนก.พ. พุ่งขึ้นแตะ 8.2% ของพอร์ทสินเชื่อค้างชำระ ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2537 พร้อมระบุว่าในจำนวนอสังหาริมทรัพย์มูลค่ากว่า 3 แสนล้านยูโรในงบดุลของธนาคารพาณิชย์สเปนนั้น ราว 1.7 ในแสนล้านยูโรเป็นสินทรัพย์ที่มีปัญหา

“รัดเข็มขัด" มาตรการที่ “จำเป็น"แต่ “บาดลึก"

คำนี้ถือว่าเป็นคำหนึ่งที่ “คุ้นหู" เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ประเทศที่ประสบปัญหาต้องดำเนินการไม่ว่าจะด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม โดยส่วนใหญ่มักจะถูกกดดันจากนานาประเทศ มาตรการรัดเข็มขัดถือเป็นสิ่งที่จำเป็นในการจัดการปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่มีหนี้สินสูง หรือพูดง่ายๆก็คือการประหยัด ลดรายจ่าย แต่มาตรการดังกล่าวก็เปรียบเหมือนดาบสองคม โดยเป็นมาตรการที่จะไม่ทำก็ไม่ได้ และไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เมื่อทำแล้วก็ไม่ใช่จะส่งผลดีแต่เพียงอย่างเดียว

สำหรับในกรณีของสเปน รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดอย่างเข้มงวด ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นประเทศที่เดินหน้าลดรายจ่ายอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นจริงเป็นจังที่สุดประเทศหนึ่งในยูโรโซนเลยก็ว่าได้ เมื่อสิ้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลสเปนแถลงปรับลดงบประมาณประจำปี 2555 ลง 2.7 หมื่นล้านยูโร (3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการรัดเข็มขัดครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ

การปรับลดงบประมาณครั้งนี้จะรวมถึงการตรึงเงินเดือนพนักงานภาครัฐและลดงบประมาณในหน่วยงานต่างๆ ลง 16.9% ขณะที่รัฐมนตรีพลังงานเผยว่าจะปรับขึ้นค่าไฟฟ้า 7% ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังจะมีการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย โดยมาตรการเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อลดยอดขาดดุลงบประมาณของสเปนลงมาอยู่ที่ 5.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จากระดับ 8.5% ในปี 2554 และในช่วงต้นเดือนเม.ย. รัฐบาลสเปนก็ประกาศแผนการลดการใช้จ่ายด้านการบริการสาธารณสุขและการศึกษา มูลค่า 1 หมื่นล้านยูโร หรือ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับย้ำเป้าหมายในการลดยอดขาดดุลด้านสาธารณะให้ลงมาอยู่ที่ระดับ 3% ของตัวเลขจีดีพีในปี 2556

แต่ขณะที่เศรษฐกิจของสเปนอยู่ในภาวะตกต่ำในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในระยะเวลาอันใกล้จากวิกฤติการเงินโลกและภาวะฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์เมื่อปี 2551 นั้น การใช้มาตรการรัดเข็มขัดที่เข้มงวดอาจจะหมายถึงการซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจที่สเปนกำลังเผชิญอยู่ให้รุนแรงหนักขึ้น เพราะในภาวการณ์ปัจจุบันจำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆที่จะนำไปสู่การจ้างงานที่จะทำให้ภาคธุรกิจเดินหน้าต่อไป ภาคครัวเรือนมีกระแสเงินหมุนเวียน อันจะทำให้เกิดพลวัตทางเศรษฐกิจในภาพรวม โดยนักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟได้ออกมาเตือนในการเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรฐกิจโลกฉบับล่าสุดว่ามาตรการรัดเข็มขัดอาจบั่นทอนการขยายตัวของจีดีพีสเปนลง 0.4% ในปี 2555

และสดๆร้อนเมื่อวันที่ 23 เม.ย. ธนาคารกลางสเปนออกมาย้ำเตือนถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดิ่งเหวของประเทศ โดยการเปิดเผยว่าเศรษฐกิจสเปนหดตัว 0.4% ในไตรมาสแรกของปีนี้ หลังจากที่หดตัว 0.3% ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ซึ่งการที่เศรษฐกิจหดตัวลง 2 ไตรมาสซ้อนถือว่าเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะถดถอย แม้ไม่ได้เป็นข้อมูลที่เหนือความคาดหมาย และรัฐบาลก็คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัว 1.7% ในปีนี้ แต่ด้วยสัญญาณเตือนนับครั้งไม่ถ้วนเช่นนี้ บ่งชี้ว่า ชาวสเปนจะยังมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากกันต่อไป

ยอดขาดดุลส่อเค้าพลาดเป้าซ้ำรอยปี 2554

หลังจากที่บรรดาผู้นำสมาชิกสหภาพยุโรป 25 ประเทศจาก 27 ประเทศมีมติเห็นพ้องกันเมื่อสิ้นเดือนม.ค.ปีนี้ ให้มีการใช้สนธิสัญญาการคลังฉบับใหม่ในการคุมเข้มวินัยการคลังและหนี้สินของประเทศสมาชิก ตลอดจนสร้างสมดุลระหว่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการรัดเข็มขัด รวมทั้งใช้มาตรการลงโทษประเทศที่ขาดดุลงบประมาณเกินกว่าเป้าที่กำหนดไว้นั้น ก็ได้เผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ เมื่อนายมาริอาโน ราฆอย นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสเปน ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนธ.ค.ปี 2554 ได้ประกาศเมื่อต้นเดือนมี.ค.ถึงการปรับเพิ่มเป้ายอดขาดดุลสำหรับปี 2555 สู่ระดับ 5.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยยอมรับว่าสเปนจะไม่สามารถทำตามเป้าหมายในการลดยอดขาดดุลลงเหลือ 4.4% ของจีดีพีภายในปีนี้ ซึ่งเป็นระดับที่ได้ตกลงกันไว้กับสหภาพยุโรป นับเป็นการเจริญรอยตามรัฐบาลชุดก่อนของสเปนที่ไม่สามารถบรรลุเป้าขาดดุลงบประมาณปี 2554 ที่ 6.0% ของจีดีพี โดยในปีดังกล่าว สเปนมียอดขาดดุลสูงถึง 8.5% ของจีดีพี

การปรับเพิ่มเป้ายอดขาดดุลของสเปนทำให้บรรดาผู้นำของภูมิภาคออกอาการร้อนรนไม่น้อย เนื่องจากถือเป็นการสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของสนธิสัญญาการคลังฉบับใหม่ที่เพิ่งจะตกลงกันได้ไม่นาน รวมทั้งบั่นทอนภาพลักษณ์ในด้านศักยภาพการจัดการปัญหาเศรษฐกิจของภูมิภาคอีกด้วย โดยหลังจากนั้นไม่นานในช่วงกลางเดือนมี.ค. บรรดารัฐมนตรีคลังยูโรโซน หรือยูโรกรุ๊ป ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้สเปนใช้พยายามมากขึ้นในการลดยอดขาดดุลของประเทศ พร้อมกับได้ผ่อนคลายเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณสำหรับปี 2555 ของสเปน จากเป้าหมายเบื้องต้นที่ 4.4% เป็น 5.3% ของจีดีพี แม้ว่าสเปนได้แสดงความมุ่งมั่นในการลดยอดขาดดุลลงสู่ระดับ 3% ของจีดีพีให้ได้ภายในปี 2556 ซึ่งเป็นระดับที่มีการตกลงกันไว้สำหรับประเทศสมาชิกยูโรโซน

“หนี้" ปัญหา “สะสม" ที่ไม่ได้รับการ “สะสาง"

เมื่อเกิดภาวะฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งนับเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญของสเปน รัฐบาลจึงต้องยื่นมือเข้ามาจุนเจือจนทำให้หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆจนถึงทุกวันนี้ สเปนกำลังมีหนี้สาธารณะที่พุ่งขึ้นไม่หยุดและทะลุเพดานที่ 60 % ของจีดีพี ซึ่งยูโรโซนกำหนดไว้สำหรับประเทศสมาชิก แม้ว่ารัฐบาลจะเดินหน้ามาตรการรัดเข็มขัดเพื่อควบคุมการใช้จ่ายและลดงบประมาณอย่างจริงจัง แต่กลับไม่สามารถทำให้ยอดหนี้สาธารณะลดลงได้ ตรงกันข้ามกลับพุ่งขึ้นสวนทางความพยายามอย่างรุนแรง โดยเมื่อต้นเดือนเม.ย. รัฐบาลระบุว่าหนี้สาธารณะของสเปนมีแนวโน้มพุ่งขึ้นอีก จากระดับ 68.5% สู่ระดับ 79.8% ในปีนี้

เมื่อพิจารณาหนี้สาธารณะของสเปนจากสัดส่วนที่ราว 70% ของจีดีพีของประเทศแล้ว ดูเผินๆอาจจะดูเหมือนว่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับหนี้สาธารณะของกรีซที่ 160% ของจีดีพี แต่ด้วยเหตุที่สเปนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่ากรีซหลายเท่า นั่นย่อมส่งผลให้มูลค่าหนี้สาธารณะของสเปนสูงกว่าของกรีซเป็นอันมาก

นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจสเปนตกต่ำถึงขั้นเข้าสู่ภาวะถดถอยในปัจจุบัน จึงมีความเสี่ยงสูงว่าหนี้สาธารณะของประเทศจะไม่ได้มีระดับสูงสุดอยู่แค่ราว 80% อย่างที่คาดกันไว้ในสำหรับปีนี้ และหากรัฐบาลต้องเข้าอุ้มธนาคารพาณิชย์ที่มีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ส่อแววเป็นหนี้เสียจำนวนมากจากราคาสินทรัพย์ที่ปรับตัวลงต่อเนื่องนั้น ก็อาจทำให้หนี้สาธารณะของรัฐบาลที่อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว พุ่งขึ้นเป็นทวีคูณ และนั่นอาจจะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงหนักขึ้น เข้าทำนอง “เตี้ยอุ้มค่อม" จนภาคธนาคารและรัฐบาลสเปนต้องประคองกันไปขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ซึ่งนักวิเคราะห์จำนวนมากเห็นตรงกันว่าเป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพียงแต่จะช้าหรือเร็วและจะต้องใช้เงินช่วยเหลือจำนวนมากเพียงใดเท่านั้น

ว่างงานพุ่งทะลุจุดเดือด

ขณะที่รัฐบาลเดินหน้าลดค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งรายจ่ายสาธารณะ ซึ่งรวมถึงการลดจำนวนการจ้างงานในภาครัฐบาลนั้น ก็จะยิ่งทำให้มีชาวสเปนต้องเตะฝุ่นจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย จากเดิมที่สเปนก็เผชิญกับปัญหาการว่างงานที่ระดับสูงมากอยู่แล้ว ถึงขั้นครองแชมป์ว่างงานสูงสุดในยูโรโซนมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากภาคอสังหาริมทรัพย์ล้มครืนจากภาวะฟองสบูแตกในปี 2551 เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนการใช้แรงงานที่ค่อนข้างสูง จึงส่งผลให้มีผู้ตกงานจำนวนนับล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าว ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหางานใหม่ สเปนจึงมีจำนวนผู้ตกงานสูง อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อไปจากการประหยัดรายจ่ายทั้งในภาครัฐบาลและเอกชน

เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสเปนเปิดเผยว่า จำนวนผู้ว่างงานเดือนมีนาคมขยายตัวเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.75 ล้านคน โดยภาคบริการมีผู้ตกงานมากที่สุด ขณะที่จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเพิ่มขึ้นแตะ 38,769 ราย โดยก่อนหน้านั้นเพียงวันเดียว อียูได้รายงานว่า อัตราว่างงานในสเปนอยู่ที่ระดับ 23.6% ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสูงสุดในกลุ่มอียู และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ ส่วนอัตราว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาวสเปนยิ่งแย่กว่า โดยอยู่ที่ระดับ 50%

มิหนำซ้ำนโยบายปฏิรูปแรงงานที่รัฐบาลสเปนเสนอเมื่อเดือนก.พ.และเดินหน้าผลักดันอย่างแข็งขันก็ดูเหมือนจะทำให้สถานการณ์วุ่นวายมากขึ้น โดยสหภาพแรงงานหลายแห่งในสเปนรวมตัวประท้วงกลางกรุงมาดริดเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ซึ่งนับเป็นการชุมนุมประท้วงรัฐบาลครั้งแรกนับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีราฮอยของสเปน ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ปีที่แล้ว โดยบรรดาสหภาพแสดงความไม่พอใจที่นโยบายปฏิรูปแรงงานจะทำให้บริษัทต่างๆปลดพนักงานได้ง่ายขึ้น และไม่ได้เป็นการสร้างงานอย่างที่ผู้นำสเปนและคณะรัฐมนตรีกล่าวอ้าง เนื่องจากนโยบายดังกล่าวเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทต่างๆให้สามารถจ่ายเงินชดเชยน้อยลงเมื่อมีการปลดพนักงาน

หลังจากนั้นเกือบ 1 เดือน กลุ่มสหภาพแรงงานได้เตรียมที่จะผละงานประท้วงอีกครั้งในวันที่ 29 เม.ย.นี้ หลังจากที่ประกาศเมือเดือนมี.ค.ว่าจะให้เวลารัฐบาลเป็นเวลา 1 เดือนในการพิจารณาทบทวนท่าที แต่ดูเหมือนมีความชัดเจนมากขึ้นว่ารัฐบาลไม่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงนโยบายแรงงานแต่อย่างใด

จากศึกเศรษฐกิจรอบด้านของสเปนที่ดูเหมือนจะรุนแรงและยังเกี่ยวพันอีรุงตุงนังเคลียร์กันไม่ลงตัวนั้น ทำให้นักลงทุนทั่วโลกเกิดความกังวลระลอกใหม่ และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสเปนพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่มาตรการ LTRO ของธนาคารกลางยุโรป ได้เคยมีอิทธิพลในการสกัดการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสเปน เมื่อผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสเปนได้พุ่งแตะระดับสูงถึง 7.68% ในช่วงกลางเดือนพ.ย.2554 ก่อนจะทยอยปรับลดลงอันเนื่องมาจากมาตรการ LTRO รอบแรก อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนพันธบัตรสเปนได้พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกครั้งหลังมาตรการ LTRO รอบ 2 ผ่านพ้นไปเมื่อปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 16 เม.ย. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสเปนพุ่งแหนือ 6% ซึ่งเป็นระดับสำคัญทางจิตวิทยาและนับเป็นระดับสูงสุดของปีนี้

แม้ว่าในเวลาต่อมาอัตราผลตอบแทนของสเปนได้ชะลอความแรงลงบ้าง แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงและสูงกว่าระดับที่มีการประมูลครั้งก่อนๆ และในการประมูลขายพันธบัตรครั้งสำคัญของรัฐบาลสเปนที่เป็นที่จับตาของนักลงทุนทั่วโลกเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลสเปนสามารถระดมทุนด้วยการขายพันธบัตรอายุ 10 ปี และ 2 ปี เป็นวงเงินทั้งสิ้น 2.54 พันล้านยูโร (3.33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของกรอบเป้าหมายที่วางไว้ที่ 1.5-2.5 พันล้านยูโร แต่อัตราผลตอบแทนสำหรับพันธบัตรอายุ 10 ปี อยู่ที่ 5.743% เพิ่มขึ้นจากระดับ 5.403% ในการประมูลครั้งก่อนเมื่อเดือนม.ค.

นักวิเคราะห์มองว่า แม้สเปนจะประสบความสำเร็จในการขายตราสารหนี้ แต่อัตราผลตอบแทนที่เป็นมาตรวัดศักยภาพในการชำระหนี้เมื่อถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนนั้น ได้ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสัญญาณว่านักลงทุนไม่แน่ใจว่าสเปนจะสามารถลดยอดขาดดุลงบประมาณได้ตามแผน ท่ามกลางการว่างงานที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง และสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้สเปนต้องขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

มหากาพย์วิกฤติหนี้ในชื่อตอนว่า “สเปน" นี้ คงจะยังไม่จบลงง่ายๆ เช่นเดียวกับเรื่องราวของกรีซที่ยืดเยื้อเป็นเวลานาน ซึ่งเราคงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่า “สเปน" ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 4 ของยูโรโซน และเผชิญปัญหาเศรษฐกิจขาลงมานานนับ 4 ปีนับแต่วิกฤตการเงินโลกในปี 2551 นั้น จะกลายเป็นประเทศที่ 4 ที่รับความช่วยเหลือจากนานาประเทศ ต่อจากกรีซ, ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส หรือจะเป็นพายุลูกที่ 4 ที่พัดถล่มยูโรโซนให้ถึงคราวต้องล่มสลายกันจริงๆ หลังจากจวนเจียนมาหลายครั้งแล้ว!!!


แท็ก In Focus:   กรีซ   สเปน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ