กรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นเรื่อง "ชีวิตของแรงงานหลังได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท" พบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ 79.1% ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วันแล้ว ขณะที่ 20.9% ยังไม่ได้รับ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่ากิจการยังไม่อนุมัติปรับขึ้นค่าจ้างให้
โดยเมื่อสอบถามผู้ที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทว่าชีวิตการทำงานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ถึง 82.4% ระบุว่ามีชีวิตการทำงานเหมือนเดิม ขณะที่ 15.4% ระบุว่าต้องทำงานหนักขึ้น และมีเพียง 1.3% ที่ระบุว่าทำงานน้อยลง
ทั้งนี้ผู้ใช้แรงงานเกือบครึ่งคือ 49.9% ไม่เชื่อว่าการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน จะทำให้กิจการที่ทำงานอยู่ต้องประสบกับภาวะขาดทุนหรือเลิกกิจการ แต่ในทางตรงกันข้าม คือแรงงาน 23.0% เชื่อว่าจะทำให้กิจการมีกำไรจะเพิ่มขึ้น และอีก 26.9% เห็นว่าจะกระทบทำให้กำไรลดลงเท่านั้น แต่มีเพียง 1.4% ที่เห็นว่ากิจการจะขาดทุน และอีก 0.8% ที่เห็นว่าจะเลิกกิจการ
สำหรับความเห็นต่อค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วันที่รัฐบาลปรับขึ้น จะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ พบว่าผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ 60.7% เห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้น ส่วนอีก 36.5% เห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่จะยังเหมือนเดิม และอีก 2.8% เห็นว่าจะแย่ลง
ทั้งนี้เมื่อถามต่อว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้หรือไม่ ผู้ใช้แรงงาน 54.9% เห็นว่าจะไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ขณะที่ 45.1% เห็นว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้
อย่างไรก็ดีผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ 93.2% ระบุว่าเห็นด้วยกับการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วันทั่วประเทศ มีเพียง 6.8% ที่ระบุว่าไม่เห็นด้วย และผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ไม่กังวลว่าจะมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาแย่งงานคนไทย
ส่วนเรื่องที่ผู้ใช้แรงงานต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลและปรับปรุงแก้ไขมากที่สุด อันดับแรก คือ สวัสดิการ รองลงมา คือ ดูแลให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน และอันดับสาม ดูแลคุณภาพชีวิต
อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงานที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,180 คน ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล 23-26 เมษายน 2555