BOI อนุมัติ 6 โครงการฟื้นฟูกิจการหลังน้ำท่วม มูลค่ารวม 4.4 พันลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 27, 2012 11:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว. พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัยว่า ที่ประชุมได้อนุมัติให้การส่งเสริมแก่ 6 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 4,403 ล้านบาท ประกอบด้วย

1. กิจการผลิตโลหะขึ้นรูป ของบริษัท เอ.บี.พี. สเตนเลส ฟาสเทนเนอร์ จำกัด ซึ่งเป็นกิจการของนักลงทุนไทย มูลค่า 164 ล้านบาท ตั้งกิจการในที่ตั้งเดิม คือ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

2. กิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูปของบริษัท โซเด นากาโน (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็น การลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่น มูลค่า 103 ล้านบาท เพื่อผลิตชิ้นส่วน ฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ ตั้งกิจการในสถานที่ตั้งเดิม คือ นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

3. กิจการผลิตชิ้นส่วนอลูมิเนียมฉีดขึ้นรูปของบริษัท ไดชิน จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่น มูลค่า 1,125 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ ตั้งกิจการในสถานที่เดิม คือ เขตอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี

4. กิจการผลิตเครื่องจักรสำหรับงานอุตสาหกรรม ชิ้นส่วนเครื่องจักร และการซ่อมแซมเครื่องจักร ของบริษัท ฮิคาริ เทค (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่น มูลค่า 125 ล้านบาท ตั้งกิจการในที่ตั้งเดิม คือ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

5. กิจการผลิต Capacitor หรือ ชิ้นส่วนในการผลิตวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ของบริษัท เอ็นอีซี โทคิน อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่น มูลค่า 2,319 ล้านบาท ที่ตั้งเดิมคือ เขตอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี แต่จะได้ย้ายสถานที่ตั้งใหม่เป็นนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

6. กิจการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกของบริษัท โนเบิ้ล พรีซิชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นการร่วมลงทุนระหว่างญี่ปุ่นและสิงคโปร์ มูลค่า 566 ล้านบาท ตั้งกิจการที่สถานที่ตั้งเดิม คือ นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ชิ้นส่วนไส้กรองน้ำมัน โครงพลาสติกสำหรับกล้องวิดีโอและกล้องถ่ายรูปดิจิตอล ปุ่มพลาสติกต่างๆ

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ทั้ง 6 โครงการ มี 5 โครงการที่ได้เลือกที่จะลงทุนในพื้นที่เดิมที่ถูกน้ำท่วม แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในมาตรการป้องกันอุทกภัยของรัฐบาล สำหรับอีก 1 บริษัท ที่แม้เลือกตั้งในสถานที่ตั้งใหม่ คือ นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จังหวัดฉะเชิงเทรานั้น แต่ยังเก็บพื้นที่เดิมเอาไว้เพื่อรอดูสถานการณ์อีกระยะหนึ่งก่อน โดยหากเห็นว่ามาตรการป้องกันอุทกภัยในปี 2555 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะพิจารณาลงทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการเพิ่มเติมในสถานที่เดิมต่อไป

สำหรับมาตรการให้สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมเป็นพิเศษแก่โครงการที่ประสบอุทกภัย ก็เพื่อจูงใจให้ตั้งกิจการในจังหวัดเดิมเพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมต่อจังหวัดนั้นๆ เพื่อป้องกันมิให้แรงงานจำนวนมากต้องย้ายตามโรงงานไปด้วย โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และกำหนดวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้ 150% ของเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนของส่วนลงทุนใหม่ ซึ่งตามหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนตามปกติจะยกเว้นให้ 100% แต่หากโครงการที่ประสบอุทกภัยจะย้ายไปตั้งในจังหวัดอื่น จะกำหนดวงเงินเพิ่มเติมจากเดิมลดลงเหลือเพียง 100% เท่านั้น แต่ยังคงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เป็นเวลา 8 ปี

นอกจากเหนือการอนุมัติข้างต้นแล้ว ในช่วงที่ผ่านมาบีโอไอได้อนุมัติให้นำเข้าเครื่องจักรใหม่เข้ามาทดแทนเครื่องจักรที่เสียหายจากอุทกภัยไปแล้ว 371 โครงการ มูลค่าเครื่องจักรที่นำมาทดแทนมากถึง 87,700 ล้านบาท จึงเชื่อว่าจะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ