ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดประชุม กนง.2 พ.ค.คงดอกเบี้ยดูแลความเสี่ยงเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 27, 2012 12:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 2 พ.ค. กนง.น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3.00% ต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ในสภาวะที่ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ จากปัญหาความเปราะบางของเศรษฐกิจหลัก ขณะที่ผลของแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐและความแข็งแรงของอุปสงค์ในประเทศยังคงต้องรอสัญญาณที่ชัดเจนมากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลัง อาจจะสร้างความท้าทายมากขึ้นต่อการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง.ในระยะถัดไป เพราะมีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจเร่งตัวเข้าสู่ 3.0% ซึ่งเป็นกรอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 0.5-3.0%

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามได้แก่ การครบกำหนดวาระของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะหมดวาระในเดือนเมษายนนี้ ตลอดจน แนวทางในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายผ่อนคลายเพิ่มเติม (QE3) รวมไปถึงมุมมองต่อมาตรการการซื้อตราสารเพื่อกดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวภายใต้โครงการ The Maturity Extension Program (Operation Twists) ที่จะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2555 เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อทิศทางการปรับตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และส่งผลไปยังตลาดพันธบัตรทั่วโลก ซึ่งอาจจะกระทบต่อต้นทุนการระดมทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในเอเชีย รวมถึงไทย ผ่านการปรับตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในแต่ละประเทศ รวมไปถึงกระแสการเคลื่อนย้ายของเงินทุนทั่วโลก

สำหรับภาพรวมอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินและอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์นั้น คาดว่าจะมีระดับที่ค่อนข้างทรงตัว สอดคล้องกับระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะเดียวกันด้วยกลไกการแข่งขันเพื่อรักษาฐานลูกค้า และการสะสมสภาพคล่องเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจ คงจะทำให้ธนาคารพาณิชย์น่าจะยังนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินออมที่ให้ผลตอบแทนจูงใจและแข่งขันได้กับช่องทางการออมอื่นๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่คงต้องติดตามประเด็นหลักเกณฑ์การกำหนดฐานการคำนวนเงินสมทบจากธนาคารพาณิชย์เพื่อชดเชยภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งจะมีผลต่อกลยุทธ์ในการจัดสรรสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์อย่างยากจะหลีกเลี่ยง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ