สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.)เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) ในเดือนมี.ค.55 อยู่ที่ระดับ 191.96 ลดลง 3.17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 11.49% จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 68.07%
ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(Manufacturing Production Index-MPI) ไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ มีการขยายตัวติดลบ 7.1% เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 ที่ติดลบ 2.1% และอัตราการใช้กำลังการผลิต มีการขยายตัวอยู่ที่ 62.99% เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่ขยายตัว 62.6%
"ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่สื่อให้เห็นว่าภาคการผลิตของอุตสาหกรรมกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง เริ่มดำเนินการผลิตได้แล้ว 60% ทั้งยังมีการขยายไลน์การผลิตใหม่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ จากผู้ผลิตรายใหม่ เช่น รถอีโคคาร์ และเมื่อรวมกำลังการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่ ทำให้เป้าหมายการผลิตรถยนต์ปีนี้เพิ่มเป็น 2.1 ล้านคัน" นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านการชี้นำและเตือนภัยภาคอุตสาหกรรม สศอ. กล่าว
นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ในไตรมาสแรกของปีนี้ มีอัตราลดลงร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสินค้าที่การส่งออกน้อยลงคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเลคทรอนิกส์ ยานยนต์ และสิ่งทอ ในขณะที่เดือนมีนาคมของปีนี้ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) มีอัตราลดลง 5.0%
นายวีรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ภาพรวมของการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ ในไตรมาส 1 ของปีนี้ การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบลดลง 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในเดือนมีนาคมปีนี้ มีการนำเข้าวัตถุดิบ ขยายตัว 17.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 17.8% ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 12.6% นอกจากนี้ในช่วงเดียวกัน มีการนำเข้าวัตถุดิบ (ไม่รวมการนำเข้าทองคำ) ลดลง 2.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมสาขาสำคัญในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนใหญ่มีอัตราการขยายตัวลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เช่น อุตสาหกรรมอาหาร มีการขยายตัว 4.9% แต่ปี 54 ขยายตัว 21% อุตสาหกรรมเส้นใยสิ่งทอ มีการขยายตัวติดลบ 38.22% แต่ช่วงเดียวกันของปี 54 มีการขยายตัว 1.98% อุตสาหกรรมผ้าผืน มีการขยายตัวติดลบร้อยละ 24.96 ในช่วงเดียวกันของปี 54 ขยายตัวติดลบร้อยละ 0.30 อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป ขยายตัวติดลบร้อยละ 15.13 ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 54 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.66%
อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ไตรมาสแรกของปี 54 มีการขยายติดลบ 1.43% แต่ในช่วงเดียวกันของปีนี้ มีการขยายตัวสูงขึ้น 5.61% อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีอัตราการขยายตัวติดลบ 27% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกับชองปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวติดลบ 6.94%
ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์นั้น มีการผลิตรถยนต์จำนวน 499,560 คัน มีการขยายตัว 6.52% แต่ในไตรมาสแรกของปี 54 มีการผลิต 468,978 คัน มีการขยายตัว 22.50% และคาดว่าทั้งปีสามารถผลิตได้ถึง 2.1 ล้านคัน ซึ่งถือเป็นปีแรกที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้เกินกว่า 2 ล้านคัน
ทั้งนี้ สศอ.ได้มีการปรับตัวเลขการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ปี 55 โดย GDP ขยายตัว 4.5-5.5% และ MPI อยู่ที่ 6-7% ผลจากนโยบายการเพิ่มรายได้ของรัฐ และภาคการผลิตเริ่มฟื้นตัวหลังประสบภาวะน้ำท่วม