สถาบันอาหารมั่นใจปี 55 ส่งออกฝ่าปัจจัยเสี่ยงทะลุ 1 ล้านล้านบาท โต 5.1%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 30, 2012 09:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงภาพรวมการส่งออกในปี 2555 คาดว่าจะมีมูลค่าราว 1,013,250 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วง 5.1% โดยไก่และสัตว์ปีก เป็นสินค้าที่ขยายตัวดีโดยเฉพาะที่มีตลาดหลักในประเทศญี่ปุ่นและยุโรป ส่วนสินค้าที่มีแนวโน้มส่งออกลดลง คือ ข้าว ที่คาดว่าจะส่งออกได้ประมาณ 8.2 ล้านตัน เนื่องจากราคาข้าวไทยที่อยู่ในระดับสูงกว่าคู่แข่งจะแข่งขันได้ยาก โดยเฉพาะเวียดนามและอินเดีย

ปัจจุบันเป็นสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกอันดับ 1 ของประเทศ ในปี 2554 มีมูลค่ารวม 964,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120% จากเมื่อ 10 ปีก่อน และเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ทำให้ประเทศได้เปรียบดุลการค้ารวมกว่า 6 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา เป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ คาดว่าในช่วงต้นปี 2555 การส่งออกอาหารไทยยังขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเดือนมกราคม 2555 มีมูลค่า 70,297 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.2% ขณะที่ในเดือนกุมภาพันธ์เร่งตัวขึ้นแรงกว่าในเดือนแรก มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 มูลค่าส่งออกสูงกว่า 86,000 ล้านบาท ภาพรวมส่งออกอาหารใน 2 เดือนแรกมีมูลค่า 156,584 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 สินค้าส่งออกสัดส่วน 1 ใน 3 ยังมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้ำตาล ไก่และสัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง

นายอมร กล่าวต่อว่า ในปี 2555 อุตสาหกรรมอาหารไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและนอกประเทศ ที่จะส่งผลกระทบต่อการบริโภค การจำหน่าย การผลิต รวมทั้งความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ทั้งนี้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวชัดเจน และอาจถึงจุดต่ำสุดที่ 3.5๔ ในปีนี้

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมอาหารที่มีตลาดภายในประเทศอาจมีแนวโน้มสดใสกว่าตลาดต่างประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากอุทกภัยปี2554 ผู้ประกอบการเองคงต้องระมัดระวังเรื่องต้นทุนการผลิตอย่างเข้มข้น เพราะราคาพลังงานในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันมาแตะที่ 120 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรและวัตถุดิบส่วนใหญ่ยังคงมีทิศทางเดียวกับราคาพลังงาน ผนวกกับการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็น 3 แรกบวกที่กระทบต่อต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งนี้ค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ ราว 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นปัจจัยที่ยังเอื้อต่อการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารทั้งในแง่ของการส่งออกและการนำเข้าวัตถุดิบ

“การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการเป็นหลัก (Demand Driven Approach) การเร่งยกระดับคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐานเพื่อให้แข่งขันได้ในทุกตลาด และวิเคราะห์ต้นทุนภายในเพื่อวางแผนลดต้นทุน กระจายสินค้าออกไปตลาดใหม่ๆ (Segment) เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงตลาดใดตลาดหนึ่ง น่าจะเป็นแนวทางสำคัญในการเตรียมรับมือของผู้ประกอบการ ขณะที่ภาครัฐควรลดหรือปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมในประเทศ ปรับปรุงกฎ ระเบียบ รวมทั้งขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เชื่อมโยงเส้นทางการค้าในภูมิภาค ใช้ช่องทางการเจรจาเพื่อลดอุปสรรคการค้าระหว่างประเทศกับประเทศคู่ค้า มุ่งยกระดับมาตรฐานการผลิตรวมทั้งให้ความรู้เรื่องการตลาดแก่กลุ่มเอสเอ็มอีให้พร้อมรับการเปิดเสรีการค้าในภูมิภาค เพิ่มกลไกในการดูแลราคาสินค้าต้นทาง(วัตถุดิบ) และปลายทาง(สินค้าสำเร็จรูป)ให้สอดคล้องกัน พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพื่อยกระดับผลิตภาพแรงงานให้สอดรับกับค่าจ้างที่สูงขึ้น" นายอมร กล่าว

ด้านนางอรวรรณ แก้วประกายแสงกูล รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในปีนี้สถาบันอาหารได้ดำเนินงานมาจนครบรอบปีที่ 15 แล้ว และได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรมตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มโครงการด้วยกัน คือ 1)โครงการส่งเสริม/สนับสนุนแก้ไขปัญหาภาคอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งดำเนินการไปแล้วมากกว่า 30 โครงการ อาทิ โครงการวิเคราะห์โครงสร้างและเนื้อหากฎหมายอาหารของไทยเกี่ยวข้องในการนำมาตรฐาน Codexมาปรับใช้, โครงการจัดสร้างฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารศูนย์สารสนเทศอาหารฮาลาล, ศูนย์สารสนเทศเชิงกลยุทธ์ เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร, โครงการจัดทำข้อมูลอุตสาหกรรมเชิงเปรียบเทียบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าข้าวแปรรูป,โครงการ Eu-Thailand Economic Co-operation เป็นต้น

2)โครงการตามนโยบายภาครัฐ 9 โครงการ อาทิ โครงการครัวไทยสู่ครัวโลก ระยะที่ 1 ปี พ.ศ. 2547— 2553, โครงการพัฒนาสัตว์น้ำเศรษฐกิจ และโครงการเพิ่มขีดความสามารถโดยการพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมอาหารตามแนวทาง Value Creation เป็นต้น

3)โครงการสนับสนุนภาคสังคม 4 โครงการ ได้แก่โครงการ “ครัวอนามัย อาหารปลอดภัยในโรงเรียน", บทความ “มันมากับอาหาร" ร่วมกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เผยแพร่ความรู้ด้านการบริโภคอาหารปลอดภัยสู่ประชาชน, โครงการสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพการผลิตโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรดา และโครงการ “GMP in Mass Catering" (โรงพยาบาลศิริราช, จุฬาลงกรณ์, รามาธิบดี)

“ในปี 2555 นี้ สถาบันอาหารได้เตรียมผลักดันโครงการต่างๆที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐ ทั้งเป็นการสนับสนุนกลยุทธ์การดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ อาทิ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นครัวอาหารคุณภาพของโลก (Thailand Food Quality to the World)ด้วยงบประมาณ 5 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายหลัก 4 ประการ คือ เพิ่มมูลค่าการส่งออกอาหารไทยอีกไม่น้อยกว่า ร้อยละ10, สถานประกอบการด้านอาหารได้รับมาตรฐานความปลอดภัยเพิ่มขึ้น 5% ต่อปี, อาหารไทยเป็นอาหารที่มีรสชาติดี มีคุณภาพ และดีต่อสุขภาพ เพิ่มขึ้นปีละ 5 ชนิด และประเทศไทยมีศูนย์ One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ประกอบการ นอกจากนี้ยังมีโครงการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารของไทย(Thailand Food Forward) โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารไทยอย่างยั่งยืนสู่หลักการปฏิบัติที่เป็นเลิศในการผลิตและการรักษาระบบ Green Productivity เพื่อการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน โครงการยกระดับการแข่งขันอุตสาหกรรมอาหารไทยด้วยการลดต้นทุนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าอาหารคุณภาพด้วยSupply Chain Management" นางอรวรรณ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ