ศูนย์วิจัย SCB ปรับเพิ่มคาดการณ์ ศก.ไทยปี 55 ขยายตัวเพิ่มเป็น 5.6-5.8%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 2, 2012 12:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ แถลงมุมมองภาพรวมเศรษฐกิจ(EIC Outlook)สำหรับไตรมาส 2/55 โดย EIC ปรับเพิ่มประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เป็น 5.6-5.8% เป็นผลมาจากปัจจัยบวกในประเทศคือการฟื้นตัวที่รวดเร็วของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการใช้จ่ายในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะการลงทุน ทั้งนี้ ธุรกิจจะเติบโตภายใต้ภาวะที่ต้นทุนสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็น ค่าจ้างแรงงาน ราคาพลังงาน หรือ ต้นทุนทางการเงิน ความเสี่ยงหลักในปีนี้มาจากปัจจัยภายนอกประเทศโดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปที่อาจลุกลามไปยังประเทศใหญ่ๆ

นางสาวสุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีกว่าประมาณการเมื่อต้นปีค่อนข้างมาก EIC ประเมินว่า GDP ภาคอุตสาหกรรมจะเริ่มเติบโตเทียบกับปีที่แล้วได้ในไตรมาส 2 และทั้งปีจะขยายตัวได้ถึง 8.5%

ปัจจัยสำคัญคือผู้ประกอบการมีความมั่นใจที่จะลงทุนฟื้นฟูกิจการ ทำให้การผลิตกลับมาได้อย่างรวดเร็ว เห็นได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นใกล้เคียงกับระดับปกติตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้เดิม ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่สนับสนุนภาคการผลิตนั้นจะขยายตัวได้ประมาณ 12% นอกจากนี้ การลงทุนของภาครัฐน่าจะเพิ่มขึ้นมากในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้การใช้จ่ายโดยรวมเติบโตได้มากในไตรมาสสุดท้าย

สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือเรื่องของภาวะต้นทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสามปัจจัยด้วยกัน ปัจจัยแรกคือค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่ง EIC ประเมินว่าจะทำให้ต้นทุนโดยเฉลี่ยของธุรกิจไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 3.3% และจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นประมาณ 0.7%

ปัจจัยที่สองคือราคาพลังงานที่มีแนวโน้มจะยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งเมื่อรวมกับปัจจัยแรกแล้วทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 3.5-4% ปัจจัยสุดท้ายคือต้นทุนทางการเงิน ถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่ายังจะคงอยู่ที่ 3% ในปีนี้ แต่ต้นทุนการกู้ยืมอาจแพงขึ้นเนื่องจากธนาคารพาณิชย์ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากการระดมเงิน และยังป็นไปได้สูงที่การระดมเงินในสกุลดอลลาร์จะทำได้ยากเพราะธนาคารในยุโรปอาจประสบกับปัญหาความเชื่อมั่นอีกครั้ง

สำหรับความเสี่ยงจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปนั้น สิ่งที่ยุโรปต้องการในตอนนี้คือเศรษฐกิจที่ยังเติบโตได้ เพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะทำให้หลายประเทศไม่สามารถหรือไม่ต้องการลดการขาดดุลการคลังตามเป้าหมายที่วางไว้ ดังที่เห็นได้จากการที่พรรครัฐบาลที่สนับสนุนมาตรการรัดเข็มขัดในประเทศหลักอย่างฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์สูญเสียความนิยม ผลที่ตามมาคือความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อพันธบัตรรัฐบาลจะเริ่มสั่นคลอนอีกครั้ง ส่งผลให้มูลค่าของสินทรัพย์มีความผันผวนสูง และอาจนำไปสู่ภาวะที่ธนาคารพาณิชย์ในยุโรปต้องขอความช่วยเหลือโดยตรงจากรัฐบาลในการเพิ่มทุน ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ความผันผวนในระบบการเงินและภาวะ risk on—risk off จะกลับมาอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้

ปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือการส่งออกของไทยซึ่งมียุโรปเป็นสัดส่วนถึงราว 1 ใน 10 โดยล่าสุดการส่งออกไปยังยุโรปในเดือนมีนาคมหดตัว 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี EIC ประเมินว่าการส่งออกของไทยในปีนี้ยังสามารถขยายตัวได้ราว 13% ผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผู้ประกอบการต้องติดตาม โดย EIC ประเมินว่าเงินบาทจะแกว่งตัวอยู่ในช่วง 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เงินบาทคงไม่สามารถแข็งค่าได้มากเหมือนปีก่อนๆ เพราะมีปัจจัยในประเทศเช่นการเกินดุลการค้าที่น่าจะลดลงกว่าปีที่ผ่านมา และปัจจัยต่างประเทศที่ยังมีความผันผวนค่อนข้างสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ