(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเม.ย.ที่ 67.5 สูงสุดรอบ 7 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 2, 2012 12:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน เม.ย.55 โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 67.5 เพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค.55 ที่อยู่ในระดับ 66.5

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ 68.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 97.1

สำหรับปัจจัยบวกมาจากเทศกาลสงกรานต์ปี 55 มีความคึกคักทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น, การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่ามีเงินในมือเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลง

ส่วนปัจจัยลบมาจากการค้าระหว่างประเทศในเดือน มี.ค.ไทยขาดดุลการค้าถึง 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ตัวเลขการส่งออก ติดลบ 6.8%, ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่า, ผู้บริโภคยังกังกวลกับปัญหาค่าครองชีพ และ ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสถานการณ์การเมือง เหตุการณ์ระเบิดในยะลาและสงขลาที่กระทบต่อการท่องเที่ยว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์ฯ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และปรับตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่เหตุน้ำท่วมใหญ่ในเดือนต.ค. 54 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจหลังน้ำท่วมเริ่มปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ผู้บริโภคยังมีความหวังว่า ภาวะเศรษฐกิจและรายได้ในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ที่เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 55

อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคยังกังวลต่อปัญหาค่าครองชีพสุง ความไม่แน่นอนทางการเมือง และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

ศูนย์พยากรฯ คาดว่า การบริโภคของประชาชนในปัจจุบันจะชะลอตัวลงจนถึงกลางไตรมาส 2 ของปีนี้ เนื่องจากประชาชนยังกังวลผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีอยู่จากปัญหาน้ำท่วมในปีก่อน รวมทั้งค่าครองชีพในระดับสูง และความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ทั้งนี้การที่รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รวมทั้งเร่งรัดการใช้งบประมาณและนโยบายการเงินผ่านการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพื่อให้เงินหมุนเวียนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้นนั้น เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการใช้จ่ายของประชาชนปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2 ของปีนี้

นายธนวรรธน์ มองว่า การเร่งเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วมให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว จะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้รวดเร็ว นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องดูแลราคาพลังงานและค่าครองชีพให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับรายได้ของประชาชนที่ยังไม่ฟื้นตัวมากในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และน่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้สามารถขยายตัวได้ในระดับ 5.5-6.5%

"ดัชนีความเชื่อมั่นขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณในเชิงลบ แต่ประชาชนยังห่วงราคาของแพง และค่าครองชีพที่เพิ่มสุงสุดในรอบ 21 เดือน ซึ่งบั่นทอนให้ประชาชน ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ส่วนปัจจัยทางการเมืองนั้น ไม่ได้มีผลมาก ทั้งนี้ห่วงปัญหาราคาน้ำมัน เพราะถ้ารัฐบาลขยับขึ้นราคาดีเซลอย่างไม่เป็นจังหวะและแรงเกินไปอาจจะทำให้เงินเฟ้อในระดับปัจจุบันที่ 2.47% ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว" นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ แสดงความเห็นว่า การที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนเม.ย.อยู่ที่ 2.47% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 29 เดือนนั้น มองว่า รัฐบาลจะต้องหาคำตอบของสาเหตุที่เงินเฟ้อต่ำให้ได้ว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไร เพราะหากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำเกิดจากภาวะเศรษฐกิจซึมตัวก็ถือว่าน่าเป็นห่วง หากเป็นเช่นนั้นรัฐบาลจะต้องเร่งปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งการเร่งรัดโครงการต่างๆที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ในงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท และที่สำคัญต้องทำให้กลุ่มแรงงานมั่นใจว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทจะไม่ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องมีการปลดคนงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ