(เพิ่มเติม) บอร์ด กนง.มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.00% ตามตลาดคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 2, 2012 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)แถลงว่า กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.00% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เนื่องจากเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังเป็นระดับที่เหมาะสมในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องให้เข้าสู่ภาวะปกติและสอดคล้องกับการรักษาเงินเฟ้อในกรอบเป้าหมาย

ขณะที่ กนง.เตรียมปรับประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 55 ใหม่ที่สูงกว่าเดิม โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะประกาศในวันที่ 11 พ.ค.นี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 1/55 ขยายตัวได้เร็วและฟื้นตัวดีกว่าคาด แต่ก็ยังต้องติดตามการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อช่วงครึ่งปีหลังอย่างใกล้ชิด โดยมีสาเหตุจากอุปสงค์ในประเทศและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่ง กนง.พร้อมจะปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับพื้นฐานเศรษฐกิจ

"แบงก์ชาติจะปรับประมาณการจีดีพีซึ่งปัจจุบันมองที่ 4.9% ให้สูงกว่าประมาณการเดิม หลังจากเศรษฐกิจไตรมาสแรกขยายตัวสูงกว่าคาด พยายามควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้ขยายตัวสูงมาก ด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ผ่านมา อยู่ในภาวะสมดุลทั้งเข้าและออก นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของไทยมีความยืดหยุ่น และพร้อมจะดูแลให้เหมะสม ระยะต่อไปแบงก์ชาติก็จะหนุนการลงทุในต่างประเทศให้เสรีมากขึ้น"นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ แถลงว่า กนง.ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยยนโยบายที่ผ่อนคลายลงในช่วงที่ผ่านมามีส่วนช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างน่าพอใจและเร็วกว่าที่คาด แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่บ้าง โดยเฉพาะปัจจัยต่างประเทศ ในขณะที่ภาวะเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่จัดการได้

"เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด การผลิตในภาพรวมคาดว่าจะกลับมาเป็นปกติได้ในปลายไตรมาสที่ 2 การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเร่งตัวขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและของภาคธุรกิจ และกำลังซื้อในประเทศที่ ปรับดีขึ้น สำหรับการส่งออกคาดว่าจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้นตามการผลิตที่จะกลับเป็นปกติได้เร็วกว่าที่คาด นอกจากนี้แรงกระตุ้นจากภาครัฐ รวมทั้งภาวะการเงินที่ยังเอื้ออำนวย จะเป็นแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องต่อไป" นายไพบูลย์ กล่าว

ส่วนเศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวช้าๆ และมีสัญญาณที่ดีขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อน โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่การจ้างงานยังขยายตัวในเกณฑ์ดี และความเชื่อมั่นของภาคเอกชนปรับดีขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอยและยังต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง

แต่ประเทศหลักมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีและเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เศรษฐกิจเอเชียชะลอตัว แต่เครื่องชี้การส่งออกเริ่มแสดงสัญญาณการฟื้นตัวประมาณปลายไตรมาสที่ 2 สอดคล้องกับการคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี สำหรับแรงกดดันเงินเฟ้อโลกยังคงมีอยู่ จากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องของประเทศอุตสาหกรรมหลัก

นายไพบูลย์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนเม.ย.ที่ขยายตัวชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่สูงในปีก่อนและการลดลงของราคาอาหารสดบางชนิดกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวสูงและการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่เริ่มทยอยเห็นผลภายใต้ภาวะอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด อาจเอื้อให้มีการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังราคาสินค้าและบริการเร็วขึ้น ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อยังมีอยู่ในระยะข้างหน้า

ความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าจะมีแรงกดดันจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เร็วกว่าคาดในทุกองค์ประกอบ ดังนั้นแรงส่งของเศรษฐกิจยังมีต่อไปในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ความเสี่ยงเงินเฟ้อยัอยู่และอาจจะสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์ล่วงหน้า 12 เดือนของภาคเอกชนปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น 0.1-0.2%

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่หักด้วยเงินเฟ้อเฉลี่ยคาดการณ์ 12 เดือน ณ เดือนเม.ย.อยู่ที่ -0.3% ถือว่าต่ำสุดเมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค แต่อัตราดอกเบี้ยต่ำไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพ และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบ และเป็นเรื่องที่ ธปท.ต้องติดตามอย่างใกล้ขิด ไม่สามารถดูเพียงเดือนใดเดือนหนึ่งมาประเมินทิศทางทั้งปีได้ และ กนง.พร้อมปรับอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ