กสิกรฯชี้เงินเฟ้อ H2/55 มีผลให้ธปท.คุมเข้มนโยบายการเงินมากขึ้นในช่วงปลายปี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 2, 2012 17:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป(CPI) อาจปรับตัวขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงกว่า 4.0% ในช่วงครึ่งหลังของปี 55 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core CPI) อาจไล่ระดับเข้าใกล้ 3.0% ซึ่งเป็นกรอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 0.5-3.0% ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ดังนั้นถึงแม้จะคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีโอกาสยืนที่ 3.00% ไปตลอดจนถึงสิ้นปี 55 แต่ต้องยอมรับว่าโอกาสของการกลับมาส่งสัญญาณเชิงคุมเข้มนโยบายการเงินในช่วงท้ายปีก็จะเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

แต่ในกรณีที่ทิศทางราคาพลังงานไม่ได้เร่งตัวสูงเกินกว่ากรอบที่ประเมินไว้ (ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ค่าเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบที่กรอบ 112-122 ดอลลาร์/บาร์เรล) และสถานการณ์วิกฤตหนี้ยุโรปไม่มีพัฒนาการไปสู่จุดที่เลวร้ายมากขึ้นแล้ว ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็น่าจะสามารถยืนอยู่ที่ 3.9%(กรอบคาดการณ์ 3.5-4.5%) และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 3.0%(กรอบคาดการณ์ 2.6-3.6%)

"ตามประมาณการข้างต้นนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานจะเร่งตัวสูงขึ้นค่อนข้างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 55 และน่าจะเริ่มมีน้ำหนักต่อสัญญาณเชิงคุมเข้มนโยบายการเงิน และทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินของไทยมากขึ้นในช่วงท้ายปี 55 หรือช่วงต้นปี 56" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากสภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในไตรมาส 2/55 ยังไม่กดดันการดำเนินนโยบายการเงินของธปท. ด้วยผลทางเทคนิคจากฐานเงินเฟ้อที่สูงในปี 54 อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงไตรมาส 2/55 มีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งน่าจะทำให้ธปท.มีช่วงเวลาสำหรับรอประเมินทิศทางการฟื้นตัวของภาคการผลิตและเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งอาจสามารถสะท้อนภาพเชิงบวกที่ชัดเจนมากขึ้นในปลายไตรมาส 2/55 หรือต้นไตรมาส 3/55 ก่อนที่จะเทน้ำหนักไปที่ความเสี่ยงเงินเฟ้อที่จะกลับมาเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง

จากประมาณการเบื้องต้นของศูนย์วิจัยกสิกรไทย แม้มีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาขยายตัวในกรอบที่สูงกว่า 3.0% ในช่วงไตรมาส 2/55 (เร่งขึ้นจากที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 0.3% ในช่วงไตรมาส 1/55) แต่ทิศทางของเงินเฟ้อที่น่าจะโน้มชะลอลงในช่วงไตรมาส 2/55 ไปอยู่ที่กรอบร้อยละ 2.9-3.2% สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และ 2.0-2.3% สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานแล้ว ก็น่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวอยู่ที่ 3.00% ไปตลอดในช่วงที่เหลือของไตรมาส 2/55

อย่างไรก็ดี แรงกดดันเงินเฟ้อจะมีน้ำหนักมากขึ้นในการกำหนดจุดยืนนโยบายการเงินของธปท.ในช่วงครึ่งหลังของปี 55 ท่ามกลางแรงกดดันที่มีต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ ทั้งที่มาจากการเพิ่มสูงขึ้นของค่าจ้างแรงงาน ค่าไฟฟ้า และราคาพลังงานและวัตถุดิบบางประเภท อาจทำให้กระบวนการส่งผ่านภาระสะสมของต้นทุนการผลิตมาที่ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค มีภาพที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 55 ซึ่งก็จะเป็นสถานการณ์ที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ถูกคาดหมายว่าจะมีเส้นทางการฟื้นตัวที่มั่นคงมากขึ้นในช่วงดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ