นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทย กล่าวในการสัมมนา"ทิศทางอุตสาหกรรมไทยหลังปี 2015"ว่า การส่งออกของไทยยังจะเป็นกลไกหลักหนึ่งในการผลักดันเศรษฐกิจต่อไป แม้ว่าช่วงไตรมาสแรกจะติดลบ แต่แนวโน้มจากนี้จะเริ่มดีขึ้น ขณะที่คาดว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มอ่อนตัวลงในไตรมาส 3/55 และเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวและอาจปรับลดลงในช่วงที่เหลือของปีนี้
ในช่วงไตรมาส 1/55 ยอดการส่งออกติดลบจากผลกระทบของน้ำท่วม ทำให้เกิดการขาดดุลการค้าและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี แต่เชื่อว่าตั้งแต่เดือน เม.ย.55 ยอดการส่งออกจะเริ่มขยายตัวดีขึ้น ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปีนี้จะเกินดุล ประมาณ 1.2% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ(จีดีพี) หรือคิดเป็นประมาณ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ลดลงเมื่อเทียบปีก่อนๆที่เกินดุลฯระดับ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอ่อนตัวลงอย่างชัดเจนในไตรมาส 3/55 โดยดัชนีราคาผู้บริโภคในไตรมาส 1/55 ปรับลดลง ซึ่งสวนทางจากหลายฝ่ายที่คาดว่าสูงขึ้น โดยเฉพาะหมวดอาหาร แต่ในหมวดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามราคาพลังงานโลก ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าคงไม่มีการปรับขึ้นอีก และมีแนวโน้มปรับลงอีกด้วย เนื่องจากสภาพคล่องในระบบอยู่ในระดับสูง ถึง 2 ล้านล้านบาท
นายวีพงษ์ ยังคงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 55 จะฟื้นตัวได้ชัดเจนจากปัจจัยหนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐในการฟื้นฟูความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปี 54 โดยใช้งบประมาณกว่า 1.2 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่นำไปใช้เยียวยาผู้ประสบภัย รวมทั้งงบประมาณบริหารจัดการน้ำอีก 3.5 แสนล้านบาทที่จะทยอยเบิกจ่าย โดยประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ถึง 6-6.5% ตามการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ เอกชน และการส่งออก
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง แต่สิ่งที่กังวลคือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานหลังเศรษฐกิจฟื้นตัว ประกอบกับประเทศพม่าที่เริ่มเปิดประเทศ จึงอาจส่งผลให้แรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานในไทยย้ายกลับประเทศ
สำหรับแนวคิดที่เคยมีรายงานข่าวว่าเสนอให้มีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)นั้น นายวีรพงษ์ กล่าวว่า เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวว่าหากจำเป็นต้องมีการปรับขึ้นภาษี ก็ควรจะเลือก VAT เพราะมีผลต่อรายได้มากกว่าภาษีตัวอื่น แต่ก็ยืนยันว่าขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายปรับขึ้น VAT เนื่องจากยังมีรายได้เพียงพอ และหากจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่ม ก็ยังมีความสามารถในการกู้เงินได้อีก เนื่องจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังอยู่ในระดับต่ำ
"ผมไม่ได้พูดว่าจะให้ขึ้นภาษี VAT เอาไปเขียนกันเอง แต่ถ้าถามว่าจะต้องขึ้นภาษีตัวไหน ก็คิดว่าน่าจะต้องเป็น VAT แต่ถ้าไม่ขึ้นก็ไม่เป็นไรเพราะรัฐบาลยังมีรายได้เพียงพอ" นายวีรพงษ์ กล่าว
สำหรับสิ่งที่รัฐบาลยังต้องให้ความสำคัญ คือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเรื่องเร่งด่วนคือการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างรันเวย์ และอาคารผู้โดยสารได้ภายในปีนี้ จะแล้วเสร็จในอีก 6 ปี หลังจากนั้นต้องพัฒนาเฟส 3 ต่อทันที ซึ่งระหว่างรอการขยายเฟส 2 อาจทำให้ต้องกลับมาใช้สนามบินดอนเมืองอีกครั้ง
และยังต้องปรับปรุงระบบแอร์พอร์ตลิงก์ เพื่อเชื่อมต่อสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ รวมถึงการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของแอร์พอร์ตลิงก์ เบื้องต้นจะมีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) และเอกชน ร่วมถือหุ้นเพื่อไม่ให้เป็นรัฐวิสาหกิจ