ราคาทองฟิวเจอร์ลดลงต่อเนื่อง หลังดอลล์แข็ง,คาดเฟดอาจไม่กระตุ้นศก.เพิ่ม

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 2, 2012 20:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาสัญญาทองคำปรับตัวลดลงเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน เนื่องจากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโร ขณะที่นักลงทุนคาดว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอาจช่วยลดความจำเป็นในการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย.ร่วงลง 0.6% แตะที่ 1,652.20 ดอลลาร์/ออนซ์ ณ เวลา 08.01 น. ตามเวลาในนิวยอร์ก

ทั้งนี้ เงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าภาคการผลิตของยูโรโซนหดตัวลงเป็นเดือนที่ 9 ขณะที่อัตราว่างงานในยูโรโซนปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้านเยอรมนีเปิดเผยจำนวนคนว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น

มาร์กิต อิโคโนมิค รายงานในวันนี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของยูโรโซน ปรับตัวลงสู่ระดับ 45.9 จุดในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2552 และเป็นการเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 50 จุด ซึ่งเป็นระดับที่บ่งชี้ถึงภาวะหดตัวในภาคการผลิต

ขณะที่อัตราว่างงานในกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 10.9% ในเดือนมี.ค. จาก 10.8% ในเดือนก.พ. โดยเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 10 ปีนับแต่เริ่มใช้เงินยูโรในปี 2542

ด้านสำนักงานแรงงานของรัฐบาลกลางเยอรมนีรายงานว่า จำนวนคนว่างงานในเดือนเม.ย.หลังจากที่ปรับค่าตามฤดูกาลแล้ว เพิ่มขึ้น 19,000 ราย มาอยู่ที่ระดับ 2.87 ล้านคน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นโดยไม่คาดหมาย สวนทางกับที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะลดลง

ข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้ยูโรร่วงลง และทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในทางกลับกับ ซึ่งการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐส่งผลให้สัญญาทองคำมีความน่าดึงดูดใจน้อยลง

อย่างไรก็ตาม รายงานล่าสุดระบุว่า ดอลลาร์เริ่มปรับตัวลดลงจากระดับสูง หลังจาก ADP เปิดเผยตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ ซึ่งดอลลาร์ที่ปรับตัวลงช่วยพยุงให้ทองคำขยับขึ้นจากระดับต่ำมาอยู่ที่ 1,654.20 ดอลลาร์ ณ เวลา 20.12 น.ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งราคาดังกล่าวลดลง 8.2 ดอลลาร์จากระดับปิดเมื่อวานนี้

โดยวานนี้ (1 พ.ค.) สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กลดลง 1.8 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,662.4 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะยังไม่ใช้มาตรการผ่อนคลายในอนาคตอันใกล้นี้ หลังจากดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐขยายตัวแข็งแกร่งและรวดเร็วที่สุดในรอบ 10 เดือน

สมาชิก 3 คนของคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ระบุก่อนหน้านี้ว่า พวกเขาไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม เนื่องจากเศรษฐกิจยังคงขยายตัว

สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) รายงานวานนี้ว่า ดัชนีภาคการผลิตเดือนเม.ย.ขยายตัวขึ้นสู่ระดับ 54.8 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน จากเดือนมี.ค.ที่ระดับ 53.4 จุด และมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 53 จุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ