สหรัฐเผยยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนมี.ค.ร่วงหนักสุดในรอบ 3 ปี

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 2, 2012 22:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานปรับตัวลง 1.5% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นสถิติที่ลดลงหนักที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2552 เนื่องจากความต้องการอุปกรณ์การขนส่ง ซึ่งรวมถึงเครื่องบิน ได้ดิ่งลงอย่างฮวบฮาบ

สำหรับยอดสั่งซื้อภาคโรงงานในเดือนก.พ.ถูกปรับทบทวนเป็นเพิ่มขึ้น 1.1% จากที่เพิ่มขึ้น 1.3% ในรายงานครั้งก่อน

สาเหตุหลักที่ทำให้ยอดสั่งซื้อเดือนมี.ค.ร่วงหนักนั้น เนื่องมาจากยอดสั่งซื้อในภาคการขนส่งร่วงลง 12.6% อันเป็นผลมาจากยอดสั่งซื้อเครื่องบินพลเรือนหรือเครื่องบินพาณิชย์ที่ดิ่งลงเกือบ 50%

แต่หากไม่รวมยอดสั่งซื้อสินค้าด้านการขนส่งที่มีความผันผวน ปรากฏว่า ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานทรงตัวในเดือนมี.ค. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนก.พ.

ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาแพงและมีอายุการใช้งานอย่างน้อย 3 ปี ลดลง 4.0% ในเดือนมี.ค. ขณะที่ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ไม่รวมอากาศยาน ลดลง 0.8%

อย่างไรก็ดี ยอดสั่งสินค้าไม่คงทน อาทิ อาหารและปิโตรเลียม เพิ่มขึ้น 0.5% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้า

ขณะที่ยอดสั่งซื้อสินค้าทุนนอกภาคกลาโหมซึ่งไม่รวมอากาศยาน ลดลง 0.1% ในเดือนมี.ค. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.7% ในเดือนก.พ. โดยนักเศรษฐศาสตร์จับตาดูสินค้าหมวดนี้เป็นพิเศษ เพราะเป็นข้อมูลที่ใช้ประเมินแผนการลงทุนทางธุรกิจ

นอกจากนี้ ยอดขนส่งสินค้าทุนนอกภาคกลาโหมซึ่งไม่รวมอากาศยาน เพิ่มขึ้น 2.6% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 1.5% ในเดือนก.พ.โดยข้อมูลนี้ถูกนำไปใช้ในการคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหรัฐ

ทั้งนี้ กิจกรรมภาคการผลิตส่งสัญญาณหยุดนิ่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งจุดปะทุความวิตกกังวลระลอกใหม่เกี่ยวกับความยั่งยืนของการฟื้นตัว

อย่างไรก็ดี รายงานยอดสั่งซื้อภาคโรงงานมีขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากที่สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) รายงานวานนี้ว่า ดัชนีภาคการผลิตเดือนเม.ย.ขยายตัวขึ้นสู่ระดับ 54.8 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน จากเดือนมี.ค.ที่ระดับ 53.4 จุด และมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 53 จุด

โดยดัชนีภาคการผลิตดังกล่าวบ่งชี้ว่ายอดสั่งซื้อเดือนเม.ย.อาจจะกลับมาดีดตัวขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ