ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) คาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่เหลือของปี ปัจจัยหลักมาจากการที่ค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นทั่วประเทศราว 40% ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นและจำเป็นต้องมีการส่งผ่านต้นทุนมายังราคาสินค้า โดยการส่งผ่านมีแนวโน้มจะส่งผลเต็มที่ในช่วงครึ่งหลังของปี ดังนั้นเมื่อพิจารณาประกอบกับราคาพลังงานในประเทศที่ยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องแล้ว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ราว 3.5-4.0%
ทั้งนี้ ต้องจับตาดูนโยบายที่กระทบต่อต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพ โดยเฉพาะนโยบายพลังงานซึ่งกระทบราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ราคาแก๊ส LPG ภาคการขนส่ง ราคา NGV หรือแม้แต่ค่าไฟฟ้า ซึ่งล้วนส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตตลอดจนค่าครองชีพของครัวเรือน
สำหรับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงอยู่ที่ระดับ 3.0% แม้ความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อจะมีมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ส่วนใหญ่แล้วปัจจัยที่กดดันราคาสินค้านั้นมาจากต้นทุนที่สูงขึ้น ในขณะที่แรงกดดันจากด้านอุปสงค์นั้นน่าจะไม่สูงมากนัก ประกอบกับความเสี่ยงในการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรปยังคงไม่หมดไป ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่ระดับนี้ยังเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในปัจจุบัน
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศอัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย.55 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.47% แต่ชะลอตัวลงจากเดือนมี.ค.55 ซึ่งอยู่ที่ 3.45% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.13% และชะลอตัวลงจากเดือนมี.ค.55 ซึ่งอยู่ที่ 2.77%
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงมาอยู่ที่ 2.47% ซึ่งลดลงจากเดือนก่อนค่อนข้างมาก เนื่องจากในเดือน เม.ย.54 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงมากหรือมีฐานค่อนข้างสูง(High base effect) เช่นเดียวกันกับการชะลอลงของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ทั้งนี้ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่เราเห็นว่าชะลอตัวลงนั้นไม่ได้หมายความว่าระดับราคาสินค้าชะลอลงมากแต่อย่างใด
"ปัจจัยที่เคยทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วงต้นปีได้เริ่มชะลอลง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มทรงตัว ไม่เพิ่มสูงขึ้นรวดเร็วเหมือนกับช่วงต้นปี ขณะที่ราคาอาหารสำเร็จรูปที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็เริ่มชะลอตัวลงในเดือนนี้" เอกสารเผยแพร่ ระบุ