PTT เร่งสร้างคลังเก็บแอลพีจีอีก 5 แสนตันรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 3, 2012 17:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บมจ.ปตท.(PTT) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างดำเนินการขยายคลังเก็บก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) และท่าเทียบเรือที่เขาบ่อยา ขนาด 2.5 แสนตัน จากปัจจุบันสามารถเก็บแอลพีจีได้ 1.3 แสนตัน ขณะที่ยอดนำเข้าแอลพีจีอยู่ที่ 1.5-1.6 แสนตัน ส่งผลให้ต้องเช่าเรือลอยลำเพื่อรองรับก๊าซที่เหลืออยู่

ทั้งนี้ ตามแผนเดิม ปตท.เตรียมจะลงทุนคลังเก็บแอลพีจีเฟส 1 และเฟส 2 ขนาดแห่งละ 2.5 แสนตัน โดยในส่วนของเฟส 1 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 57 จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.7-1.8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเป็นการขยายพื้นที่ที่เขาบ่อยา แต่ในส่วนของคลังแอลพีจีเฟส 2 ยังติดปัญหาเรื่องพื้นที่ก่อสร้าง เนื่องจากต้องมีท่าเทียบเรือด้วย

ขณะนี้ ปตท.กำลังเจรจากับภาครัฐเพื่อขอให้ชดเชยการลงทุนให้เหมาะสม เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เพราะปัจจุบันความต้องการใช้แอลพีจียังเพิ่มขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลมีการทยอยปรับขึ้นราคาขายไปแล้วก็ตาม แต่ประเมินว่ายังมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับความคืบหน้าการขยายสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวี ปตท.ตั้งเป้าเป็น 500 แห่งภายในสิ้นปีนี้ จากปี 54 อยู่ที่ 450 แห่ง ขณะที่ความต้องการใช้ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 7,800 ตันต่อวัน จากปีก่อนอยู่ที่ 6,000 ตันต่อวัน นอกจากนี้หากการขยายท่อก๊าซฯเส้นที่ 4 เสร็จ เชื่อว่าจะมีสถานีแม่เอ็นจีวีเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากได้มีการกำหนดจุดที่จะเป็นสถานีแม่แล้ว เพราะจะได้ไม่ต้องเจาะท่อที่หลังอีก

ด้านนายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในสัมมนาเรื่อง "การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน:ยุทธศาสตร์ฟื้นฟูประเทศอย่างยั่งยืน" ว่า ราคาแอลพีจีเป็นปัญหาที่สะสมมานานหลายสิบปีซึ่งที่ผ่านมาได้ปรับราคาในส่วนของแอลพีจีภาคอุตสาหกรรม และขนส่งไปแล้ว แต่ในภาคครัวเรือนจะต้องระวังไม่ให้กระทบต่อผู้มีรายได้น้อย

รัฐบาลอาจจะช่วยอุดหนุนในระยะแรก เช่น การแจกคูปองหรือใช้บัตรเครดิตพลังงาน จากผลการศึกษาพบว่าแต่ละครัวเรือนจะใช้แอลพีจีประมาณ 10 กิโลกรัมต่อเดือน รัฐอาจจะช่วยเหลือครัวเรือนละ 100-150 บาทต่อเดือน ซึ่งเลือกช่วยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยโดยยึดเอามาตรฐานการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยมาเป็นเกณฑ์ ส่วนในระยะยาวจะต้องพิจารณาปรับให้สะท้อนต้นทุนที่เป็นจริงมากที่สุด

ส่วนราคาเอ็นจีวีในประเทศขณะนี้ต้องยอมรับว่าต่ำกว่าความเป็นจริง อาจจะต้องปรับราคาให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น แต่รัฐบาลและ ปตท.ควรจะเข้ามาร่วมอุดหนุนบ้าง เพราะประชาชนและผู้ประกอบการขนส่งได้ลงทุนปรับเปลี่ยนรถยนต์เพื่อใช้เอ็นจีวีไปมากแต่จะต้องเป็นราคาที่สะท้อนต้นทุนให้มากที่สุด

ขณะที่นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากผลการศึกษาต้นทุนราคาเอ็นจีวีจะอยู่ระหว่าง 12.50-13.30 บาทต่อกิโลกรัม โดยโครงสร้างราคาแพงที่สุดจะอยู่ที่ 13.30 บาทต่อกิโลกรัมลดลงจากต้นทุนโครงสร้างเดิมที่มากกว่า 14 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคานี้อยู่บนพื้นฐานการคำนวณตามโครงสร้างเดิมของ ปตท.แต่ได้ปรับลดต้นทุนบางส่วนออกไป

ส่วนโครงสร้างราคาต่ำที่สุดจะอยู่ที่ 12.50 บาทคำนวณบนพื้นฐานที่ไม่ได้นำราคาก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจีมาร่วมคำนวณ เนื่องจากเห็นว่าก๊าซฯในอ่าวไทย และจากพม่ายังมีเพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ

นายบัณฑิต เสนอแนะให้เปิดโอกาสภาคเอกชนรายอื่นเข้ามาร่วมลงทุนก่อสร้างสถานีบริการเอ็นจีวีให้มากขึ้นและ ปตท.ปรับปรุงการบริหารจัดการให้ต่ำเท่ากับภาคเอกชน เนื่องจากพบว่าบริษัทเอกชนที่ ปตท.จ้างให้เข้ามาบริหารจัดการมีต้นทุนการบริหารประมาณ 1 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ ปตท.มีต้นทุน 2 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ถ้ารวมราคาแอลเอ็นจีราคาก็จะแพงขึ้น 50-70 สตางค์ต่อกิโลกรัม


แท็ก แอลพีจี   (PTT)   ปตท.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ