“สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้จับจ่ายซื้อสินค้าให้ตัวเองและครอบครัวที่พักอาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑล เกี่ยวกับปัญหาสินค้าราคาแพง จำนวน 1,356 คน ระหว่างวันที่ 1 — 3 พฤษภาคม 2555 พบว่า ค่าใช้จ่ายของประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วง 2-3 เดือนนี้ อันดับ 1 คือ อาหารการกิน 32.37% รองลงไปเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค/ของใช้ส่วนตัว ของใช้ในบ้าน 25.09%, ค่าเดินทาง ยานพาหนะ ค่าน้ำมัน 21.48%, ค่าน้ำ ค่าไฟ 18.36%, ค่าเทอม ค่าเล่าเรียน ชุดนักเรียนในช่วงปิดเทอม 2.70%
เมื่อถามถึงวิธีการจัดการหรือแก้ปัญหาค่าใช้จ่าย อันดับ 1 คือ ใช้จ่ายอย่างประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย ยึดหลักพอเพียง มีจำนวน 48.79%, ลดปริมาณการซื้อ/ซื้อเฉพาะของที่จำเป็น/ซื้อสินค้าราคาถูก จำนวน 37.48%, ใช้บริการรถสาธารณะหรือขนส่งมวลชนแทน จำนวน 6.76%, ทำใจยอมรับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น 4.90% และ หารายได้เพิ่ม หาอาชีพเสริมทำ มีจำนวน 2.07%
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความมั่นใจที่มีต่อการแก่ไขปัญหาของแพง ประชาชนส่วนใหญ่ 52.27% มีความมั่นใจว่าแก้ปัญหาได้เพราะ รัฐบาลมีอำนาจในการดูแลควบคุมดูแลราคาสินค้าไม่ให้สูงขึ้นได้ ,กระทรวงพาณิชย์มีการตรวจตราผู้ประกอบการ ร้านค้าให้เอาเปรียบผู้บริโภค,ประชาชนได้รับความเดือดร้อนโดยตรง ถ้ารัฐบาลสามารถแก้ปัญหาได้ก็จะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเพิ่มขึ้น ฯลฯ
ขณะที่ จำนวน 47.73% ไม่มั่นใจว่าจะแก้ปัญหาของแพงได้ เพราะ ทั้งสินค้าอุปโภค บริโภคเกือบทุกประเภทมีราคาสูงขึ้น รัฐบาลไม่น่าจะควบคุมดูแลได้ทั้งหมด, น้ำท่วมเมื่อปีที่แล้วส่งผลให้ผลผลิตเสียหายและขาดแคลนอย่างหนัก ,น้ำมันมีราคาแพงขึ้นส่งผลให้การขนส่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามมา ฯลฯ
นอกจากนี้ ประชาชนยังฝากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องต้องเด็ดขาดและเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาสินค้าแพง มีจำนวน 35.55% และ อยากให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงประชาชนเป็นสำคัญ /ค่าน้ำ ไฟฟรี รถเมล์ฟรี ระบบขนส่งมวลชนฟรี เพื่อลดภาระให้กับประชาชน 26.22%
และอีก 21.22% อยากให้ดูแลกวดขันเรื่องการขึ้นเงินเดือน ขึ้นค่าแรงให้เพียงพอกับรายจ่าย เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน, อยากให้มีการออกร้าน จัดจำหน่ายสินค้าราคาถูกเพื่อเป็นการลดภาระให้กับประชาชนทุกพื้นที่ /ร้านธงฟ้า 13.65% และรณรงค์ให้ประชาชนรู้จักประหยัด อดออม ยึดหลักพอเพียง /วางแผนการใช้จ่าย 3.36%