เวทีรมว.คลังอาเซียน+3 ไฟเขียวเพิ่มขนาดมาตรการริเริ่มเชียงใหม่สู่พหุภาคี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 4, 2012 10:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 15 (ASEAN+3 Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศสมาชิกในเอเชียตะวันออกอีก 3 ประเทศ คือ จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลี

โดยที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ แนวโน้มและความเสี่ยงต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อภูมิภาค โดยนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) รายงานว่า ADB คาดการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน+3 จะขยายตัวที่ 5.6-6.3% ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องจากปี 54 ที่ 4.5% เป็นผลจากการขยายตัวเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในแต่ละประเทศสมาชิกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังประสบภัยธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ประเทศในภูมิภาคอาเซียน+3 ยังจะเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ 1.ภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจยูโรโซน 2.แนวโน้มเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และ 3.ความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของ "มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี" (Chiang Mai Initiative Multilaterralisation : CMIM) ซึ่งเป็นกลไกช่วยเหลือทางการเงินระหว่างกันเองของประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน+3 ในกรณีที่สมาชิกประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากปัญหาดุลการชำระเงินหรือขาดสภาพคล่องในระยะสั้น ซึ่งเป็นความช่วยเหลือที่เสริมเพิ่มเติมจากความช่วยเหลือทางการเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) จากการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.53

สำหรับแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของ CIMM ใหม่ มีดังนี้ 1.การทบทวนหลักการสำคัญของ CMIM เพื่อให้สามารถให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยเห็นชอบให้เพิ่มขนาดของ CMIM จาก 120 พันล้านเหรียญสหรัฐเป็น 240 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นหลักประกันที่สำคัญเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาคมโลกถึงความแข็งแกร่งของอาเซียน+3

รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนการให้ความช่วยเหลือส่วนที่ไม่เชื่อมโยงกับเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือของ IMF (IMF — De — Linked Portion) จาก 20% ในปัจจุบัน เป็น 30% ในปี 55 และให้ทบทวนเพิ่มสัดส่วนเป็น 40 ในปี 57 เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการให้ความช่วยเหลือและทันต่อเหตุการณ์ในการแก้ไขปัญหาของประเทศสมาชิก และการขยายระยะเวลาในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินให้ยาวขึ้น

2.การจัดตั้งกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อป้องกันการเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจของ CMIM เพิ่มเติมจากกลไกที่มีอยู่แล้วเดิม โดยให้กลไกที่จัดตั้งใหม่นี้ใช้ชื่อว่า "CMIM Precautionary Line" (CMIM — PL) เพื่อรับรองความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและของภูมิภาคในปัจจุบันที่อาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจได้ อันเป็นภาวะที่เป็นการป้องกันประเทศสมาชิกก่อนการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และ สามรถบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยได้มอบหมายให้คณะทำงานหารือในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องต่อไป

"การแก้ไขหลักการสำคัญและการจัดตั้งกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อป้องกันการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าว จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินระหว่างสมาชิกอาเซียน+3 โดยจะทำให้มีความคล่องตัวและสามรถเข้าถึงความช่วยเหลือได้ง่ายขึ้นได้อย่างทันท่วงที ทั้งในกรณีที่มีแนวโน้มที่จะวิกฤตเศรษฐกิจ และภายหลังที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินของกลุ่มประเทศอาเซียน+3 ที่แข็งแกร่ง เป็นรูปธรรม และแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังคงมีความผันผวนในปัจจุบัน" นายกิตติรัตน์ ระบุ

นายกิตติรัตน์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการทบทวนกรอบการดำเนินใหม่ของการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย(Asian Bond Markets Initiatives : ABMI) เพิ่มเติมจากแผน ABMI Roadmap ที่จัดทำเมื่อปี 51 โดยเรียกว่า ABMI New Roadmap+ เพื่อจัดลำดับความสำคัญของงานและเร่งการดำเนินงานที่ยังไม่มีความคืบหน้าให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว และรับทราบผลการดำเนินงานในภาพรวมของ ABMI โดยเพิ่มเติมความร่วมมือด้านพันธบัตรอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ความร่วมมือในตลาดพันธบัตรรัฐบาล, การสนับสนุนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ออกตราสารหนี้ รวมถึงความร่วมมือในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของภูมิภาค เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดการดำเนินงานของกลไกการค้ำประกันเครดิตและการลงทุน(Credit Guarantee and Investment Facility : CGIF) ของภูมิภาคอาเซียน+3 ซึ่งเป็นกองทุนที่สมาชิกได้ร่วมกันจัดตั้งมีขนาดวงเงิน 700 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อทำหน้าที่ในการค้ำประกันการออกตราหนี้ของภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการออกตราสารหนี้เพื่อระดมเงินทุนของภาคเอกชนรวมทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภูมิภาคอาเซียน+3

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้รับทราบผลการศึกษาความเป็นไปได้ของความร่วมมือใหม่ 3 ด้านของอาเซียน+3 เพื่อขยายขอบข่ายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาคในอนาคต ได้แก่ 1.ความร่วมมือทางเงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาค 2.การใช้เงินสกุลของภูมิภาคสำหรับการค้าขายและการลงทุนในภูมิภาค และ 3.การจัดตั้งกลไก/กองทุนการประกันภัยที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ทั้งนี้ มีการตั้งเป้าหมายว่ารายงานผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ของความร่วมมือใหม่นี้จะแล้วเสร็จในเดือนพ.ย.55 ซึ่งจะนำมาใช้ประกอบการกำหนดนโยบายและการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมต่อไป โดยการประชุม AFMM+3 ครั้งต่อไปมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนพ.ค.56 ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย โดยมีประเทศบรูไนและประเทศจีนเป็นประธานร่วม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ