นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.55 ที่กระทรวงพาณิชย์สำรวจจากประชาชน 3,244 ตัวอย่างทั่วประเทศว่า ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมเท่ากับ 24.3 เพิ่มขึ้นจาก 23.0 ในเดือนมี.ค. ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันเท่ากับ 15.6 เพิ่มขึ้นจาก 14.4 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตเท่ากับ 30.0 เพิ่มขึ้นจาก 28.8
สาเหตุที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.ปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลมาจากการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ใน 7 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา รวมทั้งการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งมีวันหยุดยาว ทำให้มีเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น อีกทั้งคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร(คชก.) อนุมัติงบประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ และภาคอุตสาหกรรมกลับมาผลิตสินค้าได้ใกล้เคียงกับระดับก่อนน้ำท่วมได้เกือบทุกหมวด ส่งผลให้การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้น
"ในเดือนเม.ย.ประชาชนกังวลปัญหาค่าครองชีพมากสุด และต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหา แต่ทิศทางดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพ.ค. ต้องจับตาปัจจัยลบที่อาจส่งผลให้ความเชื่อมั่นกลับลดลง โดยเฉพาะข่าวราคาสินค้าและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ราคาน้ำมันและพลังงานยังอยู่ในระดับสูง การปรับขึ้นค่าไฟฟ้า (เอฟที) 30 สตางค์/หน่วย และการปรับขึ้นค่าโดยสารสาธารณะทุกประเภท มีผลตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.นี้ รวมทั้งภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในการเปิดภาคเรียนใหม่" นายยรรยงกล่าว
สำหรับปัจจัยบวกต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพ.ค. ได้แก่ คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อย ครม.ขยายเวลามาตรการลดค่าครองชีพทั้งรถเมล์และรถไฟฟรีออกไปอีก 5 เดือน สิ้นสุด 30 ก.ย. และโครงการโชห่วยช่วยชาติของกระทรวงพาณิชย์ที่จะมาดูแลค่าครองชีพให้กับประชาชน