นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านประกันภัย (คณะอนุกรรมการฯ) เปิดเผยว่า สภาวะตลาดประกันภัยในปัจจุบัน มีแนวโน้มที่ดีชึ้น มีอัตราเบี้ยประกันภัยที่ปรับตัวลดลง โดยขณะนี้ อัตราเบี้ยประกันภัยอยู่ระหว่างร้อยละ 3-5 สำหรับพื้นที่เสี่ยง และประมาณร้อยละ1-2 สำหรับพื้นที่นอกเสี่ยง โดยมีกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ (กองทุนฯ) เป็นตัวขับเคลื่อนให้อัตราเบี้ยประกันภัยของตลาดลดลง
คณะอนุกรรมการด้านการประกันภัยจึงได้มีการประชุมหารือถึงแนวปฏิบัติการรับประกันภัยของกองทุนฯ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะการณ์ปัจจุบัน ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการ ดังนี้ 1. สัดส่วนการรับความเสี่ยงภัยไว้เองของบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ กองทุนฯ ได้กำหนดสัดส่วนการรับความเสี่ยงภัยไว้เองของบริษัทขั้นต่ำ 1% สำหรับกรณีจำนวนเงินทุนประกันภัยไม่เกิน 300 ล้านบาท และขั้นต่ำ 0.5% สำหรับกรณีจำนวนเงินทุนประกันภัยเกิน 300 ล้านบาท ซึ่งมีบริษัทประกันภัยหลายบริษัทแสดงความสนใจที่จะรับความเสี่ยงภัยไว้เองสูงขึ้นกว่าที่กำหนดไว้ อาทิ เช่นการกำหนดให้บริษัทประกันภัยสามารถรับความเสี่ยงภัยไว้เอง สำหรับบ้านอยู่อาศัยได้สูงสุดถึง 95% และสำหรับธุรกิจ SME และอุตสาหกรรม ได้สูงสุดถึง 25 %
2. การขยายความคุ้มครองให้แก่ภาคอุตสาหกรรมในวงเงินการจำกัดความรับผิด (sub limit) สูงขึ้นถึง 50% จากที่กำหนดไว้เดิมที่ 30% เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมรายใหญ่ ทั้งนี้ จะมีการวางกรอบหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนไว้ เช่น จะพิจารณาเฉพาะกรณีที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไปต่อสถานที่เอาประกันภัย และต้องมีมาตรการบริหารความเสี่ยงที่ดี โดยคณะอนุกรรมการฯ จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป
นายประเวช กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ จะนำหลักการดังกล่าวเสนอต่อ คณะกรรมการบริหารกองทุนต่อไป นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้สมาคมประกันวินาศภัยสอบถามบริษัทสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการถึงความต้องการในการรับเสี่ยงภัยไว้เองสูงกว่าที่กองทุนฯ กำหนด โดยจะต้องพร้อมรับประกันภัยทุกกรณี ในอัตราเบี้ยประกันภัยที่เท่ากัน โดยกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ มุ่งหวังให้ประชาชน และผู้ประกอบการได้รับประโยชน์มากที่สุด สำหรับการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ความชัดเจนต่อสาธารณชนในวงกว้างทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เป็นสิ่งที่กำลังวางแผนดำเนินการ เพื่อให้สาธารณชนมีความมั่นใจและเชื่อมั่นในกลไกการรับและถ่ายโอนความเสี่ยงของอุตสาหกรรมประกันภัยในระบบเศรษฐกิจของประเทศ