ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรร่วง เหตุวิตกการเมืองฝรั่งเศส,กรีซ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 9, 2012 07:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินยูโรร่วงลงติดต่อกัน 7 วันทำการเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (8 พ.ค.) เนื่องจากความกังวลที่ว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองของกรีซและฝรั่งเศส จะส่งผลกระทบต่อการใช้มาตรการรัดเข็มขัดภายในประเทศ

ค่าเงินยูโรร่วงลง 0.30% แตะที่ 1.3013 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันจันทร์ที่ 1.3052 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินปอนด์อ่อนตัวลง 0.21% แตะที่ 1.6156 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.6190 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง 0.09% แตะที่ 79.820 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 79.890 ดอลลาร์สหรัฐ และดิ่งลง 0.25% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 0.9225 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.9202 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียดิ่งลง 0.87% แตะที่ 1.0110 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0199 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ร่วงลง 0.89% แตะที่ 0.7874 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7945 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินยูโรถูกเทขายอย่างหนัก เนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางการเมืองของยูโรโซน หลังจากนายแอนโทนิส ซามาราส ผู้นำพรรค New Democracy ยอมรับว่า เขาไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ และได้คืนอำนาจให้แก่ประธานาธิบดีคาโรลอส ปาปูลิอาสแล้ว แม้ว่าพรรคของนายซามาราสได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดจากการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และได้รับโอกาสแรกจากปธน.ปาปูลิอาสให้จัดตั้งรัฐบาลก็ตาม

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรีซเปิดเผยว่า รัฐบาลกรีซอาจจะขาดเงินทุนหมุนเวียนในการบริหารประเทศภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ ถ้ายังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นเพื่อเจรจาขอเงินช่วยเหลืองวดต่อไปจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่าง ประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้

ด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเยอรมนีเตือนว่า กรีซอาจจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจนกว่าจะยอมทำตามเงื่อนไขทั้งหมดอย่างครบถ้วน และจนกว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงไม่มั่นใจว่า นายฟรองซัวร์ ฮอลลองด์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของฝรั่งเศส จะสามารถบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจโดยไม่ต้องพึ่งพามาตรการรัดเข็มขัดได้หรือไม่

ทางการสหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ รวมถึงสต็อกสินค้าภาคค้าส่งเดือนมี.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนเม.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วงต้นเดือนพ.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ