"สมคิด"แนะใช้หลักศก.พอเพียงบริหารปท.,ห่วง GDP กลวง เหตุใช้จ่ายผิดทาง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 10, 2012 12:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี แนะให้รัฐบาลบริหารประเทศโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และมีการใช้จ่ายเงินงบประมาณไปในแนวทางที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง อย่ามุ่งหวังเพียงแค่การใช้จ่ายเงินงบประมาณและการกระตุ้นการบริโภคแค่เพียงผลักดันให้ GDP เติบโตได้เท่านั้น

นอกจากนี้ การใช้จ่ายเม็ดเงินงบประมาณต้องคำนึงถึงการมีเกราะป้องกันความเสี่ยง การใช้จ่ายอย่างสุจริต และไม่มีการรั่วไหล ซึ่งรัฐบาลในฐานะผู้บริหารประเทศจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นในจุดนี้ให้เกิดแก่ประชาชน

"ผู้บริหารประเทศจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนให้ได้ คงไม่มีใครห้ามไม่ให้รัฐบาลใช้จ่าย แต่ต้องใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น เพราะฉะนั้นการลงทุนใดๆ ต้องยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง พอดี ประมาณตน ไม่เอาประเทศไปอยู่ในความเสี่ยง" นายสมคิด กล่าวบรรยายเรื่อง "ชี้นำเศรษฐกิจ:ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ในงานสัมมนา 80 ปีหอการค้าไทย

โดยภาครัฐมีการใช้จ่ายใน 3 ส่วนที่จำเป็นต้องดำเนินการ ได้แก่ ส่วนแรกเป็นการใช้จ่ายเพื่อทำให้เกิดความเข้มแข็งต่อระบบเศรษฐกิจรากฐาน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังมีรายได้น้อย ดังนั้นต้องมีการสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น มีการปฏิรูปภาคการเกษตร สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน และให้การศึกษาอย่างถูกต้อง

ส่วนที่สองเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับอัตราค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลจำเป็นต้องสนับสนุนในสิ่งที่ทำให้ภาคเอกชนจะสามารถลงทุนเพื่อการพัฒนาการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ เปลี่ยนจากประเทศที่ผลิตและส่งออกสินค้าในราคาไม่สูงและการรับจ้างทำของ มาเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมใหม่ และผ่านการค้นคว้าวิจัย

และส่วนที่สามเป็นการใช้จ่ายเพื่อการเตรียมพร้อมในการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ที่จะเริ่มต้นในปี 58 ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องมีการบูรณาการทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์, บีโอไอ และ SMEs Bank เป็นต้น เพื่อร่วมกันเตรียมความพร้อมและใช้จ่ายเงินงบประมาณไปในส่วนที่จะช่วยทำให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs สามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าระดับโลก

อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 2.6% โดยตั้งแต่ปี 50 มียอดการขาดดุลงบประมาณรวมแล้วราว 2.2 ล้านล้านบาท(รวมปีงบประมาณปี 56 ที่คาดว่าจะขาดดุล 4 แสนล้านบาท) ขณะที่ยอดหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังอยู่ในระดับ 40-50% และยังไม่เกินเพดานที่ระดับ 60% แม้การก่อหนี้ในระดับดังกล่าวจะยังไม่เป็นสิ่งที่ต้องกังวล แต่รัฐบาลต้องคำนึงด้วยว่าการก่อหนี้สาธารณะจะต้องเป็นการก่อหนี้แล้วสามารถสร้างการเติบโตของภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงได้อย่างน้อย 4-5% โดยต้องไม่ใช่เศรษฐกิจที่เติบโตจากการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อการกระตุ้นการบริโภคเท่านั้น เพราะหากเป็นเช่นนั้นจะถือว่าเป็นจีดีพีกลวง

"การก่อหนี้ต้องสามารถสร้างการเติบโตที่แท้จริงของจีดีพีได้ 4-5% การใช้จ่ายต้องทำให้เศรษฐกิจโตจริง ไม่ใช่จีดีพีกลวงๆ ที่มาจากการบริโภค รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญ เพราะเรามีทรัพยากรธรรมชาติที่จำกัด และรัฐบาลต้องระวังรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ไม่งั้นหนี้สาธารณะจะเข้าใกล้ระดับ 60% ซึ่งหลังๆ เรามีภัยธรรมชาติที่คาดไม่ถึง ดังนั้นต้องมีเกราะป้องกันในยามยากด้วย" นายสมคิด กล่าว

อดีตรองนายกรัฐมนตรี ยังเห็นว่า วิกฤติโลกแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ตรงข้ามกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งหากแต่ละประเทศรู้จักพื้นฐานเศรษฐกิจที่แท้จริงของตัวเอง และดำเนินนโยบายในการบริหารประเทศอย่างมีสติ ประมาณตน และมีความพอดีแล้ว ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกก็จะไม่เกิดขึ้น

"หลักเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ปฏิเสธโลกาภิวัฒน์ แต่ในทางตรงกันข้ามกลับสอนให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีสติ ประมาณตน และมีความพอดี เพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างมีจุดสมดุลที่ยั่งยืน ไม่เบียดเบียนให้ผู้อื่นเดือดร้อน ซึ่งถ้าโลกรู้จักสำเหนียกในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบ้าง วิกฤติโลกคงไม่เกิดขึ้น วิกฤตเศรษฐกิจตอนนี้มาจากปัญหาในปี 2008 ถ้ามองลึกไปแล้ว ล้วนเกิดจากปัจจัยที่ตรงข้ามกับรคำสอนของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทั้งสิ้น" นายสมคิด กล่าว

และจากนี้ไปโลกกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เศรษฐกิจของบางประเทศอาจจะเติบโตขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจของบางประเทศอาจจะทรุดตัวลง ดังนั้นประเทศไทยจึงควรระมัดระวังในจุดนี้ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ยังไม่นิ่ง อย่างไรก็ดี หากภาคเอกชนดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและสามารถผนึกกำลังกันอย่างเข้มแข็งในการให้การสนับสนุนภาคธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมให้เติบโตไปได้พร้อมกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว ก็เชื่อว่าประเทศไทยจะอยู่รอดได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ