SCB EIC คาดปี 55 เงินเฟ้อเร่งตัวช่วง H2, จีดีพีโตต่อเนื่อง-คงอาร์/พี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 10, 2012 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า ในปี 55 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 5.6-5.8% นำโดยภาคอุตสาหกรรมและการลงทุน โดยภาคการผลิตมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวต่อเนื่องจากช่วงไตรมาสแรก เห็นได้จากการเร่งนำเข้าสินค้าทุนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม

ทั้งนี้ GDP ภาคอุตสาหกรรมน่าจะขยายตัวได้เทียบกับปีก่อนหน้าในช่วงไตรมาส 2 และทั้งปีจะขยายตัวได้ในระดับสูงราว 8.5% ซึ่งหมายความว่าการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวได้มากเช่นกัน เมื่อรวมกับการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐที่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีแล้ว การลงทุนโดยรวมจะขยายตัวได้ประมาณ 12% การส่งออกของไทยไปยุโรปยังหดตัวต่อเนื่อง ล่าสุดหดตัวราว 15% ในเดือนมีนาคม ตรงข้ามกับการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และประเทศกลุ่มอาเซียนที่ขยายตัว เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มที่จะหดตัวลงต่อเนื่องจากมาตรการลดการขาดดุลการคลัง รวมทั้งต้นทุนการกู้ยืมที่แพงขึ้นจากการที่ yields ของพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้น

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 55 คาดว่า จะเฉลี่ยอยู่ที่ราว 3.5-4.0% โดยต้นทุนที่สูงขึ้นจะทยอยถูกส่งผ่านมายังราคาสินค้า โดยเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงในไตรมาส 2 เนื่องจากฐานราคาผู้บริโภคในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วได้ปรับตัวสูงขึ้นมากจากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ราคาผู้บริโภคมีแนวโน้มเร่งขึ้นเพราะผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับราคาให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปโดยเฉลี่ยทั้งปี 2012 จะเพิ่มขึ้นราว 0.7% จากมาตรการดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ และราคาแก๊ส LPG และ NGV ตามนโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานของรัฐบาลอีกด้วย

ขระที่แรงกดดันเงินเฟ้อจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นยังจะไม่ทำให้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่ที่ 3.00% ในปี 55 เพราะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากการเร่งขึ้นของอุปสงค์ในประเทศที่นโยบายการเงินสามารถควบคุมได้ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงที่เหลือของปีจะอยู่ที่ 2.5-3.0% ซึ่งยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ดี ต้นทุนการกู้ยืมเงินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นในการระดมเงิน นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ในยุโรปอาจประสบปัญหาความเชื่อมั่นอีกครั้งซึ่งจะทำให้การกู้ยืมเงินสกุลดอลลาร์ทำได้ยากเป็นบางช่วง

SCB EIC มองว่า เงินบาทคงไม่สามารถแข็งค่าได้มากเหมือนปีก่อนๆ เนื่องจากไทยจะมีการเกินดุลการค้าที่น้อยกว่าเดิม นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มดีขึ้นทำให้ความต้องการเงินเพื่อการใช้จ่ายและลงทุนในสหรัฐฯ เองมีมากขึ้น ซึ่งจะช่วยพยุงไม่ให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ เหมือนหลายปีที่ผ่านมา ทำให้คาดว่า เงินบาทจะแกว่งตัวในช่วง 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ