พณ.คาดการค้าไทย-AFTA ฟื้นสู่ปกติใน Q3/55 หลังเผชิญน้ำท่วมหนักปลายปี 54

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 15, 2012 15:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ(คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แม้ว่าการค้าโดยรวมระหว่างไทยกับประเทศภาคีในเขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA) ไตรมาสที่ 1/55 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนไม่มากนักเพียง 6% แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 4/54 ซึ่งอยู่ในช่วงวิกฤตของอุทกภัย ปรากฎว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 15%

โดยเฉพาะการนำเข้าในเดือน มี.ค.55 ที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนถึง 28.7% เป็นการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง(น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ) สินค้าทุน(เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ) และวัตถุดิบ(เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ)เป็นหลัก เพื่อนำมาใช้ในการผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาดและคำสั่งซื้อ หลังจากที่โรงงานต้องหยุดการผลิตลงจากปัญหาน้ำท่วมเมื่อไตรมาสก่อน

สำหรับการส่งออกไปประเทศในกลุ่ม AFTA ในไตรมาส 1/55 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.8% และขยายตัวจากไตรมาสก่อน 9.2% โดยตั้งแต่ ธ.ค.54 มีการส่งออกรถยนต์ เคมีภัณฑ์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าการผลิตสินค้าดังกล่าวเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ คาดว่าการค้าของไทยกับประเทศในกลุ่ม AFTA จะเข้าสู่ภาวะปกติในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การค้าของไทยใน AFTA นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีมูลค่าสูงเป็นอันดับหนึ่งของไทย เป็นตลาดส่งออกที่มีผู้บริโภคมากกว่า 600 ล้านคน มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และจากการที่ AFTA กำลังพัฒนาไปสู่เขตการค้าเสรีอย่างเต็มรูปแบบหรือการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 58 จะทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนมีความเข้มแข็งและขยายตัวมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรใช้ประโยชน์จากการเปิดการค้าเสรีดังกล่าว โดยเฉพาะการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรทั้งในด้านการส่งออกและการนำเข้าเพื่อสร้างขีดความสามารถและความได้เปรียบทางการค้า นอกจากนี้ ตามความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ได้มีโครงการนำร่องเรื่องการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง(Self-Certification) เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและลดขั้นตอนการส่งออกในการทำการค้าในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งขณะนี้มี 4 ประเทศที่ดำเนินการนำร่องไปแล้ว ได้แก่ บรูไน, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และไทย โดยอาเซียนมีเป้าหมายที่จะใช้ระบบนี้อย่างสมบูรณ์ในปี 58


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ