พณ.เผยผู้ผลิต 200 ราย ยอมตรึงราคาสินค้า 4 เดือน เริ่มมิ.ย.-ก.ย.55

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 15, 2012 17:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกับผู้ผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภกว่า 200 ราย รวมถึงสมาคมการค้าต่างๆ เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) พบว่า ผู้ประกอบการยินดีให้ความร่วมมือตรึงราคาขายสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นเวลา 4 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมิ.ย.-ก.ย.55 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพแก่ประชาชน แต่หลังจากผ่าน 4 เดือนไปแล้วจะมีการหารืออีกครั้งหากต้นทุนสินค้ามีแนวโน้มปรับราคาขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ร่วมประชุมเป็นผู้ผลิตสินค้าในหมวดอาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ในชีวิตประจำวัน วัสดุก่อสร้าง กระดาษ และบริภัณฑ์ขนส่ง ซึ่งมีจำนวนสินค้าครอบคลุมตลาดกว่า 90%

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังเสนอการส่งเสริมให้ใช้เงินเหรียญหมุนเวียนในระบบตลาดมากขึ้น เพื่อช่วยชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะที่ผ่านมามีราคาสินค้าบางรายการปรับเพิ่มขึ้นทีละ 5-10 บาท ซึ่งสูงเกินต้นทุนที่แท้จริง เช่น ข้าวไข่เจียว ขึ้นราคาขายครั้งละ 5 บาท จาก 30 บาทเป็น 35 บาท ทั้งราคาไข่ไก่เพิ่มทีละไม่กี่สิบสตางค์ เพราะผู้ค้าอ้างไม่มีเงินเหรียญทอนให้ ดังนั้นหลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเสนอไปยังกระทรวงการคลังให้พิจารณาเพิ่มการผลิตเหรียญให้มากขึ้น รวมทั้งจะรณรงค์ให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้าคุ้มค่า ราคาประหยัดมากขึ้น

ด้านนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากข้อมูลของภาคเอกชนแจ้งว่าการปรับขึ้นค่าแรงกระทบต่อต้นทุนเพียง 0.25% ซึ่งส่วนใหญ่ยืนยันว่าไม่มีปัญหา และสามารถบริหารจัดการไม่ให้ราคาปรับขึ้นได้ แต่มีกลุ่มเครื่องดื่ม และน้ำอัดลม ที่ต้องใช้น้ำตาลทรายจำนวนมาก จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาลดการเก็บเงินชดเชยเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลลดลงจากปกติกก.ละ 5 บาท เหลือ 4 บาท เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต หลังจากไม่ได้ปรับขึ้นราคาสินค้ามาตั้งแต่ปี 48 ทั้งที่ต้นทุนและราคาสินค้าประเภทอื่นปรับขึ้นไปมากแล้ว

นายวิชัย อัศรัสกร กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า ทุกรัฐบาลใช้วิธีการแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพงโดยขอความร่วมมือให้ภาคเอกชนตรึงราคามาโดยตลอด นับตั้งแต่ขอความร่วมมือตรึงราคาจนถึงครั้งนี้เป็นครั้งที่ 41 ซึ่งเอกชนยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ก็พร้อมที่จะช่วย

แต่หากตรึงไม่ได้ รัฐบาลต้องเปิดทางให้มีการหารือ โดยเฉพาะหลังจากพ้นระยะ 4 เดือนไปแล้วไม่ควรจะขอให้ตรึงราคาสินค้าอีก แต่ควรจะปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน หากสินค้าตัวใดต้นทุนเพิ่มขึ้นทั้งจากค่าแรง ค่าพลังงาน และค่าไฟฟ้าก็ควรอนุมัติให้ปรับขึ้น เพียงแต่การปรับขึ้นนั้นต้องไม่เกินไปกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ