สถาบันอาหาร ห่วงราคาวัตถุดิบ-พลังงานกดดันส่งออกอาหารปี 55 ส่งผลฟื้นตัวล่าช้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 16, 2012 10:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร คาดว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยไตรมาส 2/55 จะชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยหดตัว 1.6% ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในตลาดส่งออกหลักของไทย เช่น สหรัฐสหภาพยุโรป ทำให้ความต้องการอาหารชะลอตัวตามไปด้วย

โดยการส่งออกอาหารไทยไตรมาส 1/55 มีมูลค่า 234,288 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 5.3% ถือเป็นตัวเลขที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า(ไตรมาส 4/54) ที่ขยายตัว 14.7%

นายเพ็ชร กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยในไตรมาส 2/55 คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 249,692 ล้านบาท โดยสินค้าที่คาดว่าจะส่งออกลดลง คือ ข้าว กุ้งแช่แข็งทูน่าแปรรูป และผัก-ผลไม้แปรรูป ที่มีปัจจัยรุมเร้าจากความต้องการของตลาดที่ยังอ่อนแอ แต่จากปัจจัยราคาจำหน่ายที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกอาหารไทยในปี 55 จะทำได้เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าจะอยู่ที่ราว 1,013,250 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.1% ซึ่งราคาสินค้าอาหารจะยังทรงตัวในระดับสูง ตามภาวะต้นทุนการผลิต และราคาพลังงานที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับปัจจัยที่จะผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 55 คือ ภาวะต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากวัตถุดิบภาคการเกษตรหลายอย่าง ทิศทางการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานโลก รวมทั้งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งยังเป็นปัจจัยกดดันภาคการผลิตอย่างต่อเนื่อง การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมอาหารโดยรวมจึงอาจจะล่าช้าไปจนถึงปลายปีนี้

อย่างไรก็ดี เงินบาทที่อ่อนค่าลงเล็กน้อยโดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 31 บาท/ดอลลาร์ จะยังเป็นปัจจัยเอื้อต่ออุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะการส่งออกที่ใช้วัตถุดิบในประเทศค่อนข้างสูง เช่น ข้าว กุ้ง ไก่ มันสำปะหลัง ผัก-ผลไม้แปรรูป ส่วนอุตสาหกรรมการส่งออกที่พึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น ทูน่า ปลาทะเล อาจได้รับผลประโยชน์น้อยกว่าจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มอ่อนค่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ