(เพิ่มเติม) สถาบันอาหาร ห่วงราคาวัตถุดิบ-พลังงานกดดันส่งออกอาหารปี 55 ส่งผลฟื้นตัวล่าช้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 16, 2012 13:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร คาดว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยไตรมาส 2/55 จะชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยหดตัว 1.6% ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในตลาดส่งออกหลักของไทย เช่น สหรัฐสหภาพยุโรป ทำให้ความต้องการอาหารชะลอตัวตามไปด้วย

โดยการส่งออกอาหารไทยไตรมาส 1/55 มีมูลค่า 234,288 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 5.3% ถือเป็นตัวเลขที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า(ไตรมาส 4/54) ที่ขยายตัว 14.7%

นายเพ็ชร กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยในไตรมาส 2/55 คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 249,692 ล้านบาท โดยสินค้าที่คาดว่าจะส่งออกลดลง คือ ข้าว กุ้งแช่แข็งทูน่าแปรรูป และผัก-ผลไม้แปรรูป ที่มีปัจจัยรุมเร้าจากความต้องการของตลาดที่ยังอ่อนแอ แต่จากปัจจัยราคาจำหน่ายที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกอาหารไทยในปี 55 จะทำได้เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าจะอยู่ที่ราว 1,013,250 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.1% ซึ่งราคาสินค้าอาหารจะยังทรงตัวในระดับสูง ตามภาวะต้นทุนการผลิต และราคาพลังงานที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับปัจจัยที่จะผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 55 คือ ภาวะต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากวัตถุดิบภาคการเกษตรหลายอย่าง ทิศทางการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานโลก รวมทั้งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งยังเป็นปัจจัยกดดันภาคการผลิตอย่างต่อเนื่อง การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมอาหารโดยรวมจึงอาจจะล่าช้าไปจนถึงปลายปีนี้

อย่างไรก็ดี เงินบาทที่อ่อนค่าลงเล็กน้อยโดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 31 บาท/ดอลลาร์ จะยังเป็นปัจจัยเอื้อต่ออุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะการส่งออกที่ใช้วัตถุดิบในประเทศค่อนข้างสูง เช่น ข้าว กุ้ง ไก่ มันสำปะหลัง ผัก-ผลไม้แปรรูป ส่วนอุตสาหกรรมการส่งออกที่พึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น ทูน่า ปลาทะเล อาจได้รับผลประโยชน์น้อยกว่าจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มอ่อนค่า

นายเพ็ชร กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาวะอุตสาหกรรมอาหารในเดือนเมษายน 2555 อยู่ที่ระดับ 55.0 ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าภาวะอุตสาหกรรมโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดีขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นใน 3 เดือนข้างหน้ามีค่าเท่ากับ 58.4 ซึ่งยังอยู่ในระดับดีขึ้นเช่นกัน โดยต้นทุนวัตถุดิบเป็นองค์ประกอบหลักที่ภาคธุรกิจมองว่าเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจทั้งปัจจุบันและในอนาคต หากพิจารณารายกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า กลุ่มข้าวและเครื่องปรุงรส มีความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลง ทำให้การส่งออกข้าวไทยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ขณะที่เครื่องปรุงรสก็ประสบปัญหาวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้นเช่นกัน ส่วนกลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำมีความเชื่อมั่นทรงตัว เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดส่งออก

ส่วนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศขึ้นอีกร้อยละ 40 ในเดือนที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ประกอบการส่วนน้อยเพียงร้อยละ 5.1 ที่มีการปรับลดการจ้างงาน ขณะที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 86.1 ยังจ้างงานในปริมาณเท่าเดิม

ด้านต้นทุนการผลิต พบว่า ในเดือนเมษายน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีภาระต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ร้อยละ 75.9 ยังคงตรึงราคาสินค้าที่ระดับเดิม มีเพียงร้อยละ 20.3 ที่มีการปรับราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ส่วนแนวโน้มในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการร้อยละ 38.0 อาจพิจารณาปรับขึ้นราคาสินค้า ส่วนอีกร้อยละ 59.5 ยืนยันที่จะตรึงราคาสินค้าไว้ระดับเดิม

สำหรับความคิดเห็นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมอาหารไทยเกี่ยวกับความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ปี 2558 จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมอาหาร พบว่า ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอาหารมีมากถึงร้อยละ 86.7 รับรู้และความเข้าใจ AEC แต่การใช้สิทธิประโยชน์จาก AEC ในช่วงที่ผ่านมามีเพียงร้อยละ 34.6

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ประกอบการบางส่วน ไม่ได้มีตลาดสินค้าอยู่ในภูมิภาคอาเซียนขณะเดียวกันก็ไม่ได้พึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบจากอาเซียนจึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิประโยชน์จาก AEC เท่าใดนัก ซึ่งการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญโดยเฉพาะข้อมูลเชิงลึกของตลาดอาเซียนที่ในอนาคตจะกลายเป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่ มีศักยภาพที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นฐานการผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกได้ จะมีส่วนทำให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญในการขยายการค้า และการลงทุนไปสู่ประเทศในอาเซียนมากขึ้น

ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่คือ 2 ใน 3 มองว่า AEC ส่งผลด้านบวกต่อธุรกิจของตนมากกว่าด้านลบ เช่น ด้านการตลาด จะทำให้ตลาดกว้างขึ้น เอื้อต่อการขยายการค้า/การลงทุน, ไม่มีอุปสรรคทางภาษีในการส่งออกสินค้ไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียน, การนำเข้าส่งออกสะดวกขึ้นจากมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า และ จะทำให้มีพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มขึ้น

ด้านวัตถุดิบ มองว่า ภาษีนำเข้าวัตถุดิบลดลง และทำให้มีวัตถุดิบหลากหลาย ด้านแรงงาน ช่วยลดปัญหาขาดแคลนแรงงานในกิจการของตน

ส่วนที่มองว่าการเปิด AEC จะทำให้เกิดผลกระทบด้านลบ เพราะจะทำให้ธุรกิจเกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง ปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยเฉพาะการที่รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจจะเป็นปัจจัยกดดันทำให้ผู้ประกอบการหันไปใช้เครื่องจักรในการผลิตทดแทนแรงงานคน

พร้อมกันนี้ ได้เสนอแนะให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ให้เอื้อต่อการแข่งขัน พร้อมๆกับยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะระบบขนส่งและโลจิสติกส์ให้เชื่อมโยงกับโครงข่ายการค้าในภูมิภาคตามข้อเสนอของผู้ประกอบการ ก็เป็นสิ่งที่ควรดำเนินการให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้ภาคธุรกิจมีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้น มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถปรับตัวให้สอดรับกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ