In Focusภาวะสุญญากาศการเมืองและเศรษฐกิจกรีซ กรีดยุโรปเลือดซิบ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 16, 2012 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ภาวะสุญญากาศทางการเมืองและเศรษฐกิจในกรีซทำเอาตลาดหุ้นทั่วโลกระส่ำระสาย ทุกฝ่ายจ้องตาไม่กะพริบพร้อมกับตั้งคำถามอีกหลายคำถามตามมาว่า กรีซจะจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ได้หรือไม่ หรือว่า กรีซจะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง มีการวิเคราะห์ถึงขั้นที่ว่า กรีซอาจจะไม่สามารถดำเนินการตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้เรื่องการลดงบประมาณ จนท้ายที่สุด กรีซต้องถอนตัวจากการเป็นสมาชิกในกลุ่มยูโรโซนหรือไม่

แม้ว่า กรีซจะไม่ได้เป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในยุโรป แต่หากสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งต้องมีอันต้องถอนตัวจากกลุ่ม แน่นอนว่า ความเชื่อมั่นที่มีต่อกลุ่มย่อมสั่นคลอน ล่าสุด ข่าวกรีซต้องจัดการเลือกตั้งขึ้นอีกครั้งในเดือนมิ.ย.ทำเอาตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงกันถ้วนหน้า หลังจากที่ร่วงกันไปหลายรอบแล้ว

การที่กรีซต้องเลือกตั้งกันอีกครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องที่นอกเหนือไปจากการคาดการณ์ เนื่องจากพรรคการเมืองแต่ละพรรคล้วนมีนโยบายที่สวนทางกันแทบจะฝ่ายละครึ่ง ประธานาธิบดีคาโรลอส ปาปูลิอัส ของกรีซ จึงไม่สามารถเกลี้ยกล่อมให้หัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้ กรีซจึงต้องจำใจตั้งรัฐบาลรักษาการขึ้นมาทำหน้าที่บริหารประเทศ โดยจะมีการประชุมเรื่องหน้าตาของรัฐบาลรักษาการกันในวันนี้

ศึกเลือกตั้งกรีซและมหากาพย์การเจรจาจัดตั้งรัฐบาล

กรีซจัดการเลือกตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐบาลชุดเฉพาะกาลได้ทำหน้าที่นำพาประเทศผ่านช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานจนได้รับความช่วยเหลือทางการเงินมาได้ แต่แทนที่กรีซจะได้รัฐบาลชุดใหม่ เพื่อทำหน้าที่บริหารประเทศให้ก้าวต่อไปได้ตลอดรอดฝั่งนั้น การเลือกตั้งครั้งล่าสุดกลับทำให้กรีซต้องเผชิญสถานการณ์ที่หนักหนาสาหัสไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เนื่องจากไม่มีพรรคการเมืองใดได้คะแนนสนับสนุนแบบขาดลอยหรือครองเสียงข้างมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้แบบสบายๆ

พรรคปาสก ซึ่งเป็นพรรคแกนนำของรัฐบาลชุดเฉพาะกาลนั้น ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 3 แต่พรรคการเมืองที่มีนโยบายต่อต้านการใช้มาตรการรัดเข็มขัดอย่างพรรคนิว เดโมเครซี และพรรคฝ่ายซ้าย หรือ SYRIZA กลับได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่จากประชาชนจนทำให้พรรคนิว เดโมเครซี ได้คะแนนเสียงสูงสุด และได้รับสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลเป็นพรรคแรก

แต่ด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องมาตรการรัดเข็มขัดส่งผลให้พรรคนิว เดโมเครซี ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมาได้ ส่งผลให้พรรค SYRIZA ซึ่งได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 2 รับไม้ต่อในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล แต่การเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จเช่นกัน พรรคสังคมนิยม หรือ PASOK ของกรีซ ซึ่งได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 3 จึงรับไม้ต่อจากพรรค SYRIZA เพื่อหาทางตั้งรัฐบาล แต่ก็ประสบความล้มเหลว

ร้อนถึงประธานาธิบดี คาโรลอส ปาปูลิอัส ของกรีซ ที่ออกมาขอให้ทุกพรรคการเมืองร่วมมือกับพรรคอนุรักษ์นิยม หรือพรรคนิว เดโมเครซี ซึ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว เพื่อจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นมาชุดหนึ่ง แต่ก็ไม่มีเสียงตอบรับ ล่าสุด นายปาปูลิอัส ได้พยายามที่เกลี้ยกล่อมให้พรรคการเมืองยอมรับข้อเสนอในการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติที่ปลอดนักการเมืองขึ้นมาบริหารประเทศ

จนถึงวันนี้ (16 พ.ค.) ภายหลังการเลือกตั้งผ่านไปกว่า 1 สัปดาห์ ก็มีความชัดเจนแล้วว่า กรีซจะจัดตั้งรัฐบาลรักษาการขึ้นมา หลายฝ่ายมองว่า เป็นเรื่องยากที่กรีซจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ เนื่องจากความคิดเห็นที่แตกต่างของแต่ละพรรคการเมืองเกี่ยวกับมาตรการรัดเข็มขัดที่กรีซได้ดำเนินการตามที่รับปากกับสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อแลกกับการรับความช่วยเหลือทางการเงินจากอียู

หากการจัดตั้งรัฐบาลผสมล้มเหลวจนนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ในช่วงกลางเดือนมิ.ย. นักวิเคราะห์ชี้ว่า มีโอกาสมากขึ้นที่พรรค SYRIZA ซึ่งได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2 ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว จะคว้าชัยในการเลือกตั้งคราวนี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็มีสิทธิที่อียูจะระงับการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือแก่กรีซ และจุดชนวนวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซนให้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า พรรค SYRIZA คัดค้านการใช้มาตรการรัดเข็มขัด

ชะตากรรมของกรีซชวนให้ขนหัวลุกเมื่อมองจากระยะเวลาที่กระชั้นกระชิดเข้ามากับการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นในเดือนมิ.ย. ขณะที่กรีซเองอาจจะถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัวได้ในช่วงต้นเดือนก.ค. หากเจ้าหนี้ตัดสินใจที่จะระงับการจ่ายเงินช่วยเหลืองวดต่อไป โดยกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) ได้ยืนยันเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า เงินช่วยเหลือวงเงิน 5.2 พันล้านยูโรนั้น จะมีการอนุมัติให้กรีซในช่วงสิ้นเดือนมิ.ย. หลังจากที่ได้อัดฉีดเงิน 4.2 พันล้านยูโรไปเมื่อวันที่ 10 พ.ค. ส่วนวงเงินที่เหลืออีก 1 พันล้านยูโรจะถูกอนุมัติออกมาเมื่อไรนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเงินของกรีซ

ทั้งนี้ หากการประชุมเพื่อจัดตั้งรัฐบาลรักษาการไม่ประสบผลสำเร็จ ศาลสูงของกรีซจะรับหน้าที่ในการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นมา โดยรัฐธรรมนูญของกรีซให้อำนาจศาลสูงยุบสภาและจัดการเลือกตั้งขึ้น

นอกจากนี้ เศรษฐกิจของกรีซเองก็หดตัวลงทุกปีมาตั้งแต่ปี 2551 และมีแนวโน้มว่าจะหดตัวลงถึง 4.7% ในปีหน้า ขณะที่อัตราว่างงานของกรีซก็อาจจะอยู่ที่ระดับสูงถึง 19.7% ในปีนี้ รองจากสเปน

มุมมองชาวกรีซ

ผลการสำรวจความคิดเห็นชาวกรีซที่จัดทำขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ชี้ว่า ชาวกรีซส่วนใหญ่ต้องการให้ประเทศยึดมั่นในแผนการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน และเป็นสมาชิกกลุ่มยูโรโซนต่อไป

โพลล์ซึ่งจัดทำโดย Rass SA ระบุว่า ประชาชนที่ตอบรับการสำรวจความคิดเห็นเกือบ 54% มองว่า กรีซควรจะดำเนินมาตรการที่ได้มีการให้ความเห็นชอบกับไอเอ็มเอฟ สหภาพยุโรป และธนาคารกลางยุโรปต่อไป อีก 38% ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว แม้ว่า การไม่ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวจะหมายถึงการล้มละลาย

นอกจากนี้ โพลล์ยังชี้ด้วยว่า พรรค SYRIZA จะเป็นผู้คว้าชัยในการเลือกตั้งครั้งใหม่ ตามมาด้วยพรรคนิว เดโมเครซี และพรรคปาสกที่คงจะได้คะแนนเสียงน้อยลง

ประชาชน 2 ใน 3 ต้องการให้พรรคการเมืองกรีซจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมา แต่ที่เหลือต้องการให้จัดการเลือกตั้ง และ 81.4% ต้องการให้กรีซอยู่ในกลุ่มยูโรโซนต่อไป

ชาวกรีซมองว่า นายอเล็กซิส ซิปราส หัวหน้าพรรค SYRIZA ซึ่งปฏิเสธที่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมนั้น ต้องเป็นผู้รับผิดชอบมากที่สุดในฐานะที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดสูญญากาศทางการเมืองในประเทศ โพลล์ชี้ว่า ชาวกรีซ 37.1% คิดว่า จุดยืนของนายซิปราสในระหว่างการเจรจาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้นถือเป็นเรื่องที่เลวร้ายที่สุดในบรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองทั้ง 7 พรรคที่ได้รับการเลือกตั้ง ชาวกรีซ 58.7% มองว่า นโยบายของนายซิปราสจะทำให้กรีซต้องออกจากกลุ่มยูโรโซนในที่สุด

ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 พ.ค.เป็นต้นมา ชาวกรีซเองก็เริ่มไม่ไว้วางใจกับสถานการณ์ภายในประเทศ ข้อมูลจากสื่อระบุว่า ชาวกรีซได้พากันถอนเงินฝากจำนวน 700 ล้านยูโร (898 ล้านดอลลาร์) จากธนาคารของประเทศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับสภาพคล่องของภาคการธนาคาร ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองกรีซที่อยู่ในภาวะยุ่งเหยิง

ทั้งนี้ เมื่อเงินฝากลดลง ธนาคารของกรีซจะต้องพึ่งพาธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการด้านการระดมทุน ซึ่งจะทำให้อีซีบีเสี่ยงที่จะขาดทุนอย่างมากหากกรีซออกจากยูโรโซน

การถอนเงินฝากเมื่อวันจันทร์นับว่ามีความรุนแรงหลังจากที่ธนาคารของกรีซมียอดเงินฝากลดลงอย่างต่อเนื่องนับแต่ที่กรีซเริ่มเผชิญวิกฤติหนี้ในปี 2552 เนื่องจากผู้ฝากถอนเงินและโอนเงินไปยังต่างประเทศ

ข้อมูลล่าสุดจากธนาคารกลางกรีซระบุว่า ยอดเงินฝากทั้งหมดของชาวกรีซและบริษัทในประเทศอยู่ที่ 1.6536 แสนล้านยูโรในเดือนมี.ค.

มองต่างมุมจากหลากวงการ

นายคอสทาส ซิมิทิส อดีตนายกรัฐมนตรีกรีซ มีความเห็นว่า กรีซจำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งของยูโรโซนต่อไป และจะเกิดหายนะแน่ๆหากกรีซกลับมาใช้สกุลเงินของตนเอง

ขณะที่นายฌอง คล้อด ยุงเกอร์ รัฐมนตรีคลังลักเซ็มเบิร์กและประธานยูโรกรุ๊ปยืนยันเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้กรีซอยู่ในกลุ่มยูโรโซนต่อไป และหวังว่า จะมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ในเร็ววัน พร้อมกับเตือนว่า กรีซจะต้องเดินหน้าต่อไปตามแนวทางเดิม เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ แม้ว่านโยบายรัดเข็มขัดจะถูกปฏิเสธจากประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่ก็ตาม

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุในรายงานเมื่อวันที่ 11 พ.ค.ว่า ผลลัพธ์จากการเลือกตั้งครั้งใหม่จะออกมาในรูปแบบใดนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดเดาได้ และยิ่งทำให้เกิดข้อกังขาตามมาว่า กรีซจะสามารถนำเสนอมาตรการรัดเข็มขัดในระยะกลางเพิ่มเติมตามเส้นตายของอียูและไอเอ็มเอฟที่กำหนดไว้ในช่วงสิ้นเดือนมิ.ย.ได้หรือไม่

นายฌอง-คล้อด ยุงเกอร์ รัฐมนตรีคลังลักเซ็มเบิร์กและประธานยูโรกรุ๊ป กล่าวภายหลังการประชุมรมว.คลังกลุ่มยูโรโซนเมื่อวานนี้ว่า ในที่ประชุมไม่มีใครระบุถึงเรื่องการออกจากกลุ่มยูโรโซนของกรีซ เรื่องนี้เป็นเรื่องไร้สาระและเป็นการโฆษณาชวนเชื่อเสียมากกว่า

การที่นายยุงเกอร์ออกมาพูดเช่นนี้ สื่อต่างประเทศมองว่า เหมือนกับเป็นการส่งสัญญาณว่า กรีซอาจจะมีเวลาในการเดินเรื่องลดงบประมาณลงให้ได้ตามเป้าหมายมากขึ้น หลังจากที่กรีซไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้

สรุป ถึงแม้การเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมกรีซจะล้มเหลวไม่เป็นท่าไปหลายรอบ แต่ในมุมหนึ่ง สถานการณ์การเมืองของกรีซก็สะท้อนให้เห็นถึงจุดยืนของนักการเมืองกรีซที่แตกต่างไปจากนักการเมืองบางประเทศที่ยอมทุกอย่างเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล พรรค SYRIZA ซึ่งเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 2 และได้รับสิทธิในการเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลนั้น ยังไงก็ไม่ยอมเปลี่ยนใจไปจับขั้วกับพรรคที่มีนโยบายแตกต่างไปจากนโยบายที่ได้มีการหาเสียงไว้กับประชาชน ต่างจากนักการเมืองในบางประเทศ ไม่ว่าตอนหาเสียงกับประชาชนจะให้คำสัญญาไว้อย่างไร สุดท้ายก็อัลไซเมอร์ กอดคอพรรคใหญ่เข้ามานั่งเป็นรัฐบาลซะงั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ