นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในขณะนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นทิศทางที่เกาะกลุ่มไปกับค่าเงินในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาในยุโรปอย่างใกล้ชิด พร้อมไปกับการสร้างภูมิคุ้มกันในประเทศให้สามารถรับมือกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นให้ได้
"ค่าเงินบาท อยู่ในระดับไม่น่าเป็นห่วง เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่แน่นอนการเงินโลก จึงส่งผลให้เงินทุนหันไปลงทุนสินทรัพย์ที่ปลอดภัย คือ เงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ค่าเงินอื่นเมื่อเทียบเงินดอลลาร์อ่อนค่า อย่างไรก็ตาม เงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางภูมิภาค โดยอยู่ในระดับกลางๆ ไม่ได้ออกนอกกลุ่ม และถือเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วภูมิภาคและทั่วโลก"นายประสาร กล่าว
ปัจจุบัน ธปท.มีสินทรัพย์ที่เป็นสกุลดอลลาร์อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยมีเงินสกุลดอลลาร์ในทุนสำรองระหว่างประเทศ สัดส่วน 40-50%
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยในต่างประเทศขณะนี้มีค่อนข้างมาก ได้แก่ กรณีสหรัฐ ที่มีกระแสจะออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE3) ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายในการลดการว่างงาน ทำให้ยังไม่ประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งใจ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และสร้างภุมิต้านทานให้เข้มแข็งและมีความร่วมมือในระดับภูมิภาคมากขึ้น
ด้านญี่ปุ่นยังมีแรงกดดันทางการเมืองต่อธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ต้องการให้เศรษฐกิจเติบโต โดยช่วงไตรมาส 1/55 เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตได้ดีเกินกว่าคาด แต่ยังต้องติดตามในระยะต่อไป ขณะที่ยุโรปมีความไม่แน่นอนสูง และปัญหาได้นำไปสู่มิติทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและต้องติดตาม
"ธนาคารพาณิชย์มีธุรกรรมทางการเงินกับประเทศยุโรปน้อยมาก มองผลกระทบโดยตรงไม่มาก แต่ต้องระวังผลทางอ้อม หากปัญหาในกรีซเป็นไปในทางเลวร้าย ก็ออกจากกลุ่มยูโรโซน อาจมีผลข้างเคียงสู่ประเทศอื่นที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าที่จะกระทบระบบสถาบันการเงิน ระบบเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด"นายประสาร กล่าว
ผู้ว่า ธปท. กล่าวอีกว่า ธปท. ได้เฝ้าติดตามสภาพคล่องของระบบพาณิชย์ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2.5 ล้านล้านบาท สูงกว่ากำหนดที่กำหนดไว้ให้มีสินทรัพย์สภาพคล่องเพียง 5 แสนล้านบาท หรือสูงกว่ากฎหมายกำหนดถึง 5 เท่า ซึ่งสภาพคล่องที่มีอยู่สูงเกินกว่ากำหนดจะเป็นภาระต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ที่จะทำให้ผลตอบแทนลดลง ทำให้ธปท.ต้องมีการดูดซับสภาพคล่องในบางช่วง เพื่อไม่ให้สภาพคล่องท่วมระบบ มากถึง 3-5 ล้านล้านบาท เพราะอาจนำไปสู่การทำธุรกรรมเศรษฐกิจที่จะนำไปลงทุนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และหวั่นจะเกิดเงินท่วมระบบ และเกิดเครดิตไม่ดีที่อาจนำไปสู่สถานการณ์เหมือนเมื่อช่วงก่อนปี 40 อย่างไรก็ตาม ธปท. พร้อมปล่อยสภาพคล่อง หากภาครัฐและเอกชนมีการลงทุนโครงการที่ดี
"สถาบันการเงินเมื่อมีเงินท่วมก็พยายามเอาเงินไปลงทุน เพราะหากปล่อยไว้เฉยๆ ก็จะมีภาระดอกเบี้ยเงินฝาก แบงก์ชาติจึงต้องดูแลให้ปริมาณเงินในระบบเพียงพอเหมาะสมกับธุรกรรมเศรษฐกิจ เพราะหากเงินมากก็จะนำไปลงทุนสินทรัพย์ไม่ดีนำไปสู่หนี้เสีย เกิดฟองสบู่ และต้องระวังเงินเฟ้อ"ผู้ว่า ธปท. กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ขณะนี้ที่ธนาคารพาณิชย์แข่งขันระดมเงินฝากค่อนข้างมาก เนื่องจากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของสินเชื่อมากกว่าการเติบโตของเงินฝากและตั๋วแลกเงิน(บีอี) โดยสินเชื่อโตเฉลี่ย 8-9%ต่อปี ขณะที่เงินฝากและบีอีเติบโตเฉลี่ย 3%ต่อปี
สำหรับเงินลงทุนโดยตรง (FDI) นายประสารกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณถดถอย โดยยังพบว่ามีนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่เข้ามาลงทุนสัดส่วนมากโดยเฉพาะจากญี่ป่นมาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นจีน และเมื่อเกิดประชาเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะทำให้มีฐานการผลิตร่วมกันและจะมีการลงทุนใน AEC มากขึ้น
ดังนั้น FDI จะมาจากภูมิภาคเป็นส่วนมาก ส่วนยุโรปชะลอบ้างไม่น่ากังวล ส่วนธุรกิจในประเทศ มีแนวโน้มดี ที่หันไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น และถือเป็นจังหวะที่เหมาะสม เพราะเงินบาทอยู่ในระดับมั่นคง สามารถซื้อสินทรัพย์ที่ไม่แพงเพื่อต่อยอดธุรกิจ
ส่วนกรณีที่องค์กรระหว่างประเทศขึ้นบัญชีประเทศไทยว่าไม่ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำการปราบปรามการฟอกเงินนั้น นายประสาร กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้ และไม่พบความผิดปกติของธุรธรรมการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งมองว่าไม่ได้กังวล และเป็นปัญหาใหญ่ ทั้งนี้ ไทยไม่ได้มีนโยบายสนับสนุนการก่อการร้ายหรือการฟอกเงิน ทั้งในระดับรัฐบาล หน่วยงานกำกับดูแล และสถาบันการเงิน ดังนั้น เรื่องดังกล่าวน่าจะสามารถเข้าใจได้ง่าย และทางเทคนิค น่าจะมีความร่วมมือกันได้ไม่ยาก
"ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องร้ายแรง หรือ scale ใหญ่โต แต่อาจะเป็นคำเตือน ซึ่งในทางปฏิบัติก็ไม่ได้มีอะไร ซึ่งเรื่องพวกนี้ ไทยมีทิศทางไม่ได้สนับสนุนการก่อการร้าย แต่เมื่อมีมาตรฐาน ก็อยากเห็นความเข้มข้นกฎระเบียบของกฎหมาย ก็น่าจะไปทางนั้น" นายประสาร กล่าว
ทั้งนี้ มองว่าในส่วนผู้ส่งออกไม่น่าได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวและไม่น่ากังวล เพราะผู้ส่งออก ย่อมมีการทำธุรกิจกับลูกค้าที่เป็ฯที่รู้จัก มีสินค้าที่ส่งออก มีการชำระเงิน ตามเงื่อนไขการรับส่งสินค้าอยู่แล้ว
นอกจากนี้ นายประสาร กล่าวว่า ไม่ได้รู้สึกกดดัน กรณีที่นายวีรพงษ์ รามางกูร จะเข้ามาเป็นประธานกรรมการ ธปท. ซึ่งเห็นว่า การเข้ามาทำหน้าที่คงจะมีเจตนาดีต่อประเทศชาติ และคิดว่าได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน ซึ่งการที่ได้มีโอกาสที่รับฟังความเห็นที่แตกต่างจาก ธปท. ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ และ ธปท.ได้มีการเปิดเผยข้อมูลเป็นสาธารณะอยู่แล้ว
"ในประเทศไทย การจะทำอะไรก็อยู่ในสายตาของสาธารณชนอยู่แล้ว ซึ่งคงต้องรอจังหวะหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อเป็นโอกาสที่ฟังความเห็นแตกต่างจากที่เราคิด ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ ส่วนตัวไม่มีความรู้สึกกดดันอะไร" นายประสาร กล่าว