สภาพัฒน์ มองปัจจัยเสี่ยงปี 55 มาจากความผันผวนระบบการเงินโลก โดยเฉพาะปัญหากรีซ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 21, 2012 10:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) คาดว่า ค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยในกลุ่มยูโรโซนมีแนวโน้มผันผวนตลอดทั้งปี จากสถานการณ์ของกรีซและกลุ่ม PIIGS รวมทั้งความผันผวนของการใช้มาตรการการคลังแบบเข้มงวดของยุโรปที่สร้างความแตกแยกทั้งทางการเมือง และสังคมในหลายประเทศ กระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาด และอาจเปิดโอกาสให้มีการเก็งกำไร โดยใช้ความผันผวนของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องมือ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกระทบที่สร้างความผันผวนในตลาดการเงินในประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ

นอกจากนี้ ความสำคัญของกลุ่มยูโรโซนในฐานะประเทศคู่ค้าของไทย แม้จะมีมูลค่าการส่งออกสูงขึ้น แต่สัดส่วนการส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 15.8 ในปี 2543 เหลือเพียงร้อยละ 9.4 ในปี 2554 ในขณะที่ตลาดส่งออกในเอเชีย และตะวันออกกลางมีความสำคัญเพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าและสัดส่วน โดยเฉพาะจีน และอาเซียน ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.1 และ 19.3 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 12.0 และ 23.7 ในปี 2554 ตามลำดับ สะท้อนถึงบทบาทความสำคัญของการค้าไทยกับประเทศในภูมิภาค และตลาดใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเทียบกับตลาดเดิม

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมโยงของการค้าระหว่างตลาดในภูมิภาคกับยุโรปที่มีลักษณะของการพึ่งพาทางการค้าสูง อาจส่งผลให้การส่งออกของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป แต่คาดว่าจะอยู่กรอบจำกัด

ทั้งนี้ สถานการณ์ยูโรโซนในปี 2555 จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองในกรีซและมีแนวโน้มการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลซึ่งสนับสนุนการใช้มาตรการการคลังที่ผ่อนคลายมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการพิจารณาให้การสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (European Financial Stability Facility: EFSF) และเพิ่มโอกาสในการแยกตัวออกจากกลุ่มยูโรโซน ซึ่งอาจส่งผลให้ระบบสถาบันการเงินและโครงสร้างทางเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนได้รับผลกระทบในวงกว้าง อย่างน้อยในระยะแรกของการปรับตัว ซึ่งอาจใช้เวลาถึง 2-3 ไตรมาส หรือนานกว่านั้น ซึ่งสถานการณ์น่าจะชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 3 หลังการเลือกตั้งรอบใหม่ของกรีซในวันที่ 17 มิถุนายน 2555

ในระยะสั้น ผลจากมาตรการปล่อยเงินกู้ระยะยาวเป็นกรณีพิเศษของธนาคารกลางยุโรป (Long-Term Refinancing Operations:LTRO) น่าจะทำให้สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในยุโรปเพิ่มขึ้นหากมีการกระจายลงสู่ภาคธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยเพิ่มอุปสงค์ในกลุ่มยูโรโซนและชดเชยภาวะการหดตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวอาจเป็นภาระความเสี่ยงต่อสถานะทางการเงินของ ECB และเพิ่มความยุ่งยากในการจัดการปัญหาเงินเฟ้อที่มีลักษณะทวิลักษณ์โดยใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยเดียวของยูโรโซนในระยะต่อไป

นอกจากนี้ ประเทศส่วนใหญ่ของยูโรโซนยังมีสถานะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ในขณะที่ เยอรมัน และเนเธอร์แลนด์ ยังเกินดุล ทุกประเทศขาดดุลงบประมาณ โดยเฉพาะไอร์แลนด์ กรีซ และสเปน สะท้อนถึง twin deficits ที่ชัดเจนของกลุ่มยูโรโซน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าปัญหาการขาดดุลงบประมาณในระดับสูงและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จะส่งผลกระทบถึงการจำกัดการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐโดยตรง ทำให้แนวโน้มของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยูโรโซนจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภายนอก ทั้งที่เป็นเงินช่วยเหลือ และการลงทุน โดยภาคเอกชนต้องมีบทบาทมากขึ้น

ประเทศที่มีความเสี่ยงต่อความสามารถในการชำระหนี้ที่ครบกำหนดในปี 2555 นอกเหนือจากกรีซแล้วยังมีอิตาลี และสเปน โดยมีภาระรายไตรมาสในช่วงที่เหลือของปีค่อนข้างสูง เฉลี่ยประมาณ 1.3 แสนล้านเหรียญ สรอ. สำหรับอิตาลี และ 6.1 หมื่นล้านเหรียญ สรอ.สำหรับสเปน รวมทั้งโปรตุเกส และไอร์แลนด์ที่ต้องมีการทบทวนความช่วยเหลือจากคณะกรรมการร่วมของสหภาพยุโรป IMF และ ECB (Troika) อีกครั้งในเดือนพฤษภาคม และกรกฎาคมตามลำดับ โดยเฉพาะไอร์แลนด์ ที่นอกจากจะมีปัญหาภาระหนี้ระดับสูงแล้วยังมีปัญหาการขาดดุลงบประมาณระดับสูงถึงประมาณร้อยละ 13 ของ GDP เป็นข้อจำกัดต่อการบริหารงบประมาณเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขการขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF)

อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในกลุ่มยูโรโซน ผลจากวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่ม PIIGS ทำให้สถาบันจัดอันดับเครดิตปรับลด credit rating ของกลุ่ม PIIGS ลงตามลำดับ อย่างไรก็ตามหลังจากกรีซมีการปรับโครงสร้างหนี้บางส่วน ทำให้อันดับปรับเพิ่มสูงขึ้น 4 อันดับ จากเดิม SD เป็น CCC


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ