สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)คงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยในปี 55 ไว้ที่ 5.5-6.5% หลังจากประกาศจีดีพีช่วงไตรมาส 1/55 เติบโตได้ 0.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากเศรษฐกิจช่วงหลังน้ำท่วมฟื้นตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง แต่การเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ส่วนหนึ่งยังมีสาเหตุมาจากฐานที่ต่ำในปีก่อน
ทั้งนี้ สภาพัฒน์คาดว่าช่วงไตรมาสต่อ ๆ ไปของปีนี้เศรษฐกิจจะมีการเติบโตสูงขึ้นจากไตรมาสแรก โดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าหลังจากโรงงานหลายแห่งได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้นช่วงปลายปีก่อน และเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้สูงมากในช่วงไตรมาส 4/55 เนื่องจากฐานช่วงเดียวกันของปีก่อนติดลบ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า แม้ปีนี้ทางสภาพัฒน์จะคงเป้าจีดีพีไว้ที่ 5.5-6.5%ตามเดิม แต่การขยายตัวในระดับดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำในปีก่อน รัฐบาลจึงควรดูแลนโยบายการเงินให้ดี เพราะหากมองว่าเป็นอัตราการขยายตัวในระดับสูงแล้วไปเพิ่มต้นทุนทางการเงินให้ภาคเอกชน ก็เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะเศรษฐกิจไทยยังมี base effect อยู่ ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินจะต้องดูแลให้ภาคเศรษฐกิจจริงเติบโตและฟื้นฟูได้ 100% ก่อน
"ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ไม่อยากให้ขึ้นดอกเบี้ย แต่ขอให้ดูแลเศรษฐกิจให้ฟื้นเข้าสู่ภาวะปกติได้เต็ม 100% เพราะปีก่อนเราเกิดภาวะชะงักงันในช่วง 3 เดือนสุดท้าย เวลานี้อัตราการบริโภคเพิ่มขึ้นน้อยมาก ยังไม่อยู่ในระดับปกติ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะมองว่าเศรษฐกิจร้อนแรงหรือโอเวอร์ฮีท แต่คงไม่ใช่...เพราะฉะนั้นต้องไปดูต้นทุนทางการเงินเพื่อภาคเอกชนของเราสามารถลงทุนได้ทั้งการปรับตัวและการเพิ่มขีดความสามารถในอนาคต"นายอาคม กล่าว
สภาพัฒน์ ระบุว่า การประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้อยู่ภายใต้สมมติฐานว่า ประเทศไม่มีภาวะอุทกภัยในขั้นวิกฤติ หรือในกรณีที่เกิดอุทกภัยก็สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรม เป็นต้น
เศรษฐกิจโลกในปี 55 มีแนวโน้มขยายตัว 3.4-3.8% ชะลอลงจากปี 54 ที่ขยายตัว 3.9% โดยปัญหาเสถียรภาพของเศรษฐกิจยุโรปซึ่งเกิดจากหนี้สาธารณะสูงยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ปริมาณการค้าโลกคาดว่าจะขยายตัว 6.1-7.1% เศรษฐกิจสหรัฐคาดว่าจะขยายตัว 2.4% ปรับตัวดีขึ้นจากขยายตัว 1.7% ในปี 54
ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 55 คาดว่าจะอยู่ที่ 105-110 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล โดยในไตรมาสแรกราคาน้ำมันอยู่ที่ 115.11 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ขณะที่ในเดือนเม.ย.-พ.ค.ราคาน้ำมันปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน คาดว่าจะอยู่ที่ 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในครึ่งปีหลังคาดว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่ากว่าในครึ่งปีแรก จากดุลการค้ามีแนวโน้มเกินดุลมากขึ้นหลังจากการผลิตภายในประเทศกลับมาผลิตในระดับปกติ ปริมาณเงินลงทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีกว่าในครึ่งปีแรก และ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลง
ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 55 คาดว่าจะมีประมาณ 21.0 ล้านคน
*ปัจจับขับเคลื่อน-ปัจจัยเสี่ยง
สภาพัฒน์ ระบุว่า ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ ได้แก่ การเร่งตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม ตามการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราการใช้กำลังการผลิต รวมทั้งแรงส่งจากฐานการขยายตัวที่ต่ำในไตรมาส 2/54 และไตรมาส 4/54 แม้ว่าอุตสาหกรรมสำคัญๆ มีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ภายในไตรมาส 2/55 ก็ตาม แต่การฟื้นตัวของบางอุตสาหกรรมยังมีความล่าช้า โดยเฉพาะในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสัดส่วน 23.9% ของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด
การฟื้นตัวของกำลังซื้อภาคครัวเรือนตามการฟื้นตัวของภาคการผลิตและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น การปรับเงินเดือนข้าราชการ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และมาตรการช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชน เช่น การต่ออายุมาตรการขึ้นรถเมล์และรถไฟฟรี และโครงการมหกรรมธงฟ้าลดค่าครองชีพ เป็นต้น
การขยายตัวของการลงทุนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมผ่าน BOI ในไตรมาส 1/55 จำนวน 470 โครงการ เพิ่มขึ้น 14.9% มูลค่าเงินลงทุน 231 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 106.7% อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภคได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมากที่สุด ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 55.9 จากระดับ 51.4 ในไตรมาสก่อนหน้า
ขณะที่ แรงกดดันด้านราคาน้ำมันในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มลดลงจากในช่วง 4 เดือนแรก ซึ่งจะส่งผลให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อเริ่มผ่อนคลายลง คาดว่าราคาน้ำมันจะลดลงในไตรมาส 2/55 และไตรมาส 3/55 จากความไม่แน่นอนในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของยุโรป โดยเฉพาะปัญหากรีซ และมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาส 4/55 ตามความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว
เศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ แม้ว่าวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจยุโรประลอกใหม่มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้กรีซผิดนัดชำระหนี้และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโลกมากขึ้นก็ตามซึ่งคาดว่าผลกระทบทางตรงของปัญหากรีซต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปีจะยังอยู่ในขอบเขตจำกัด
ด้านปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ความผันผวนของระบบการเงินโลก จากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจกรีซคาดว่าจะส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนั้นผลกระทบทางอ้อมจากแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ของกรีซยังมีความเสี่ยงที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์
การปรับตัวของภาคการผลิตในประเทศต่อการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำ และการหดตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงซึ่งเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปีโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องหนังซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าแรงที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และความเสี่ยงของปัญหาภัยธรรมชาติต่อการผลิต โดยเฉพาะในภาคการเกษตร
*แนะเร่งเบิกจ่ายงบ-แก้ปัญหาภาคการผลิตที่ยังฟื้นช้า-ช่วย SME ที่รับผลกระทบขึ้นค่าแรง
สภาพัฒน์ ยังได้เสนอประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 55 ควรให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ ดังนี้ การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและเร่งรัดการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศเพื่อชดเชยการหดตัวของงบลงทุนภาครัฐในไตรมาสแรกในช่วงที่โครงการยังอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อม รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน พร้อมกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
การแก้ไขปัญหาให้กับภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่ยังมีความล่าช้าในการฟื้นตัว โดยเฉพาะการผลิตในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่การใช้กำลังการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นและได้รับผลกระทบจากปัญหาทางเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นตลาดส่งออกโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องหนังในปี 54 หดตัว 17.7% และ 18% ต่อเนื่องในไตรมาส 1/55 ที่หดตัว 30.2% และ 31.6% ตามลำดับ
การดูแลและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่ใช้แรงงานเข้มข้น การพิจารณามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว เตรียมช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างและลดชั่วโมงการทำงานในช่วงของการปรับตัว รวมถึงการเร่งรัดโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ได้รับความเสียหายปี 54 ของธนาคารแห่งประเทศไทยวงเงิน 300,000 ล้านบาท ซึ่งยังมีอัตราการเบิกจ่ายแค่ 0.97%
การแก้ไขปัญหาราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคของครัวเรือนให้มีความสอดคล้องและเป็นธรรมตลอดห่วงโซ่การผลิตซึ่งจะมีผลต่อค่าครองชีพของประชาชนและภาวะเงินเฟ้อของประเทศ รวมถึงการประสานแผนงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนล่วงหน้า เพื่อให้การสนับสนุนด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาดของสินค้าเกษตรสอดคล้องกับความผันผวนตามฤดูกาลของแต่ละสินค้า และลดความผันผวนของราคา
การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ แม้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นแต่ปัจจัยสนับสนุนส่วนหนึ่งจากฐานการผลิตที่ต่ำในปีก่อน นอกจากนั้นการขยายตัวของภาคการผลิตในช่วงที่เหลือของปียังต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านค่าแรงที่เพิ่งขึ้นและความเสี่ยงจากปัญหายุโรป ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปียังคงต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่เอื้ออำนวยต่อการขยายตัว