สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) แถลงตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/55 ขยายตัว 0.3% ขณะที่ในช่วงไตรมาส 4/54 หดตัว 8.9%
ทั้งนี้ การที่จีดีพีไตรมาสแรกของปีนี้ฟื้นตัวขึ้นมีสาเหตุหลักมาจากการบริโภคภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นหลังสถานการณ์น้ำท่วมปี 54 การลงทุนขยายตัวจากการก่อสร้างอาคาร และการซ่อมแซมเครื่องมือเครื่องจักรในช่วงหลังจากน้ำท่วม นักท่องเที่ยวต่างชาติมีการเข้าพักเพิ่มขึ้น ผลผลิตการเกษตรขยายตัว และภาคอุตสาหกรรมและภาคส่งออกปรับตัวดีขึ้น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวว่า ในไตรมาส 1/55 การบริโภคภาคครัวเรือนขยายตัว 2.7% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/54 ที่หดตัว 2.8% การปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากการใช้จ่ายเพื่อการซ่อมแซมทรัพย์สินและซื้อสินค้าเพื่อทดแทนส่วนที่เสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยในปี 54 รวมทั้งความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เช่น มาตรการคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรก และการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการ
ด้านการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 9.2% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 4/54 ที่หดตัว 1.3% เป็นผลมาจากการขยายตัวของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรเพื่อซ่อมแซมและทดแทนความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัย ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ(BSI) ที่ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.0 เพิ่มขึ้นจาก 41.4 ในไตรมาสก่อนหน้า
ภาคการท่องเที่ยว ในไตรมาส 1/55 พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเมืองไทยมีจำนวน 5.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.1% สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 2.58 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.7% อัตราการเข้าพักอยู่ที่ 66.8% โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีน ออสเตรเลีย และฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นในอัตราสูง ส่งผลให้สาขาโรงแรม ภัตตาคาร ปรับตัวดีขึ้น
ภาคเกษตรกรรม ขยายตัว 2.8% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 4/54 ที่ขยายตัว 1.6% เนื่องจากการขยายตัวของผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ เช่น ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และยางพารา ในขณะที่ผลผลิตข้าวเปลือกลดลง
ภาคอุตสาหกรรม หดตัว 4.2% แต่ยังปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 4/54 ที่หดตัวถึง 21.6% เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยสามารถกลับมาผลิตได้อีกครั้ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตรวมอยู่ที่ระดับ 63% เพิ่มขึ้นจาก 46.3% ในไตรมาสก่อน
ภาคการส่งออก ในไตรมาส 1/55 มีมูลค่า 53,800 ล้านดอลลาร์ หดตัว 4% แต่ถือว่าปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 4/54 ที่หดตัว 5.2% แสดงให้เห็นถึงการเริ่มฟื้นตัวของภาคการผลิต โดยสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ยานยนต์เริ่มกลับมาขยายตัว ขณะที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าเริ่มปรับตัวดีขึ้น