รมว.คลังย้ำไม่ขึ้นภาษีเพื่อหวังรายได้ตามเป้า ยันงบปี 56 เคลื่อนศก.ได้จริง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 21, 2012 14:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ชี้แจงเพิ่มเติมจากนายกรัฐมนตรีในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 56 ว่า รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลต่อเนื่องจาก 2 ปีงบประมาณก่อนหน้าที่ขาดดุล 4 แสนล้านบาท แต่การขาดดุลงบประมาณในปี 56 นี้ได้ปรับลดลงมาเหลือ 3 แสนล้านบาท ซึ่งหากเมื่อเทียบกับขนาด GDP ของประเทศจะเห็นได้ว่าเป็นการขาดดุลที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับข้อห่วงใยว่ารัฐบาลจะปรับขึ้นอัตราภาษีเพื่อทำให้สามารถจัดเก็บรายได้เป็นไปตามเป้าหมายนั้น นายกิตติรัตน์ ย้ำว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะปรับขึ้นอัตราภาษีใดๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) หรือการกลับไปเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล

"ขอให้ตัดความกังวลว่ารัฐบาลจะปรับขึ้นภาษี โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งรัฐบาลไม่มีนโยบายจะปรับขึ้น ส่วนภาษีอื่นๆ เช่น สรรพสามิตน้ำมันดีเซล รัฐบาลยังไม่มีแผนที่จะนำภาษีน้ำมันดีเซลกลับเข้าไปรวมในราคาน้ำมันดีเซล และยืนยันว่ารายรับในปีงบ 55 ที่ 1.98 ล้านล้านบาทนั้น รัฐบาลสามารถทำให้เกิดรายได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน" นายกิตติรัตน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า แนวทางที่จะขยับหรือปรับอัตราภาษีใดๆ เพื่อจะทำให้มีรายรับเพียงพอกับงบประมาณที่ได้นำเสนอต่อรัฐสภาไปแล้ว รวมทั้งงบประมาณรายจ่ายปี 56 ที่กำหนดเป้าหมายรายรับไว้ที่ 2.1 ล้านล้านบาท ได้อ้างอิงเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้นแนวทางการจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าเดิมจาก 1.98 ล้านล้านบาท มาเป็น 2.1 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.2 แสนล้านบาทนั้น จึงเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไปขยับอัตราภาษีใดๆ ให้เพิ่มขึ้น

"หากจะคิดปรับอัตราภาษีใดๆ ก็จะเป็นไปเพื่อการส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ที่สมควร แต่ไม่ใช่การปรับเพื่อหวังที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากอัตราภาษี" รองนายกฯ และรมว.คลัง ระบุ

ทั้งนี้ คงไม่อาจรับปากว่าจะไม่มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพิ่มเติมตลอดปีงบประมาณ 56 ตามที่ผู้นำฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกต แต่นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า อาจจะมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพิ่มเติมหากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง แต่ยืนยันว่าหากจะมีการจัดเก็บก็ไม่ได้หวังให้ไปเพิ่มรายได้ให้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ เพียงแต่ต้องการดูแลราคาน้ำมันให้มีเสถียรภาพเท่านั้น

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า แม้จะมีการปรับลดการขาดดุลงบประมาณลง แต่รัฐบาลยังจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อมาชดเชยเงินคงคลังที่เกิดจากรายรับที่น้อยกว่ารายจ่าย และการดำเนินการในส่วนนี้หากจะถูกกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลที่สนใจแต่จะกู้เงิน ก็คงต้องขอปฏิเสธ

"การดำเนินการของรัฐบาลนี้ได้ดูแลหนี้สาธารณะจำนวนที่มากถึง 1.14 ล้านล้านบาท ไม่ให้เป็นภาระของงบประมาณแผ่นดินอีกต่อไปในปีงบ 55 ที่รัฐบาลต้องเสนองบที่รวมดอกเบี้ย และรวมยอดหนี้ 68,000 ล้านบาท ยืนยันว่าตั้งแต่ปีงบ 56 เป็นต้นไป ไม่มีความกังวลจะต้องตั้งดอกเบี้ยเพื่อมาชดเชยการดูแลหนี้สินจำนวนนี้ และสามารถทำให้รัฐบาลใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาประเทศได้อย่างดีขึ้น"นายกิตติรัตน์ กล่าว

สำหรับการจัดสรรงบประมาณในภาพรวม ตลอดจนรายกระทรวง รวมทั้งงบประมาณที่กระจายลงไปในรายพื้นที่นั้น นายกิตติรัตน์ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้มีเจตนาจัดสรรให้งบประมาณกระทรวงใดมากขึ้นหรือน้อยลง ซึ่งบางหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณน้อยลงไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญลดลง เพียงแต่รัฐบาลเชื่อมั่นว่าจะสามารถบริหารจัดการงบประมาณที่มีอยู่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการจัดสรรงบประมาณในครั้งนี้ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ และสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และมีการกระจายรายได้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างแท้จริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ