ครึ่งทางสู่ AEC ประเทศสมาชิกทยอยลดภาษีน่าพอใจ ไทยได้ประโยชน์ติด 1 ใน 3

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 21, 2012 15:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาเซียนได้ประเมินผลการดำเนินการระยะครึ่งทางสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) จัดทำโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก(ERIA) พบว่า มีความคืบหน้ามากในด้านการลดภาษีศุลกากร โดยอาเซียนเดิม(ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบรูไน) มีอัตราภาษีเฉลี่ยเหลือ 0.5% ส่วนอาเซียนใหม่(ลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม) มีอัตราภาษีเฉลี่ย 2.6%

ส่วนการเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกทางการค้าด้านการค้าบริการและการลงทุน แม้จะมีความคืบหน้า แต่แต่ละประเทศสมาชิกยังมีระดับการเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกต่างกันมาก ทั้งนี้ พบว่าไทยได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีด้านการค้าบริการมากเป็นอันดับ 2 รองจากเวียดนาม โดยมีกัมพูชาเป็นอันดับ 3

ส่วนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)นั้น พบว่าไทยมีการขยายตัวสูงเป็นอันดับ 3 รองจากอินโดนีเซีย และสิงคโปร์ นอกจากนี้ หากอาเซียนมีการเปิดเสรีกับประเทศคู่เจรจาทั้งในกรอบอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) และอาเซียน+6 (จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) พบว่าการเปิดเสรีในกรอบอาเซียน+6 จะได้ประโยชน์มากกว่า และไม่ว่าอาเซียนจะเปิดเสรีกับประเทศนอกภูมิภาคในรูปแบบใด ไทยก็จะได้รับประโยชน์มากเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากเวียดนาม และกัมพูชา

นางศรีรัตน์ กล่าวอีกว่า อาเซียนยังได้ติดตามความคืบหน้าการเปิดเสรีร่วมกับจีน เกาหลี และญี่ปุ่น โดยในส่วนของจีนจะเสนอให้ผู้นำอาเซียน และจีนลงนามในพิธีสาร 2 ฉบับ คือ พิธีสารแก้ไขกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน และพิธีสารเพื่อผนวกข้อบทด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และข้อบทด้านกฎระเบียบทางเทคนิคทางการค้า ซึ่งจะช่วยให้การค้าขายระหว่างกันขยายตัวได้เพิ่มขึ้น โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.56 รวมถึงจะผลักดันให้จีนเร่งจัดสรรเงินทุนเพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้เร็วขึ้น ซึ่งจีนคาดว่าจะมีข่าวดีก่อนการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-จีน ในเดือนส.ค.นี้

ส่วนการเปิดเสรีกับเกาหลี ได้หารือที่จะเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจใน 8 สาขาที่ยังไมมีความคืบหน้า ได้แก่ การท่องเที่ยว, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, บริการทางการเงิน, อุตสาหกรรมการก่อสร้าง, พลังงาน, ทรัพยากรธรรมชาติ, การต่อเรือและการขนส่งทางเรือ และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ หลังจากที่ได้เปิดเสรีการค้าสินค้าและการค้าบริการไปแล้ว

สำหรับญี่ปุ่นนั้น ได้ติดตามความคืบหน้าการเปิดเสรีด้านการค้าบริการและการลงทุน ซึ่งจะต้องหารือกันเพื่อให้ได้ข้อยุติภายในเดือนส.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ไทยได้เสนอให้ญี่ปุ่นเพิ่มความร่วมมือในสาขาอาหารและเกษตร การท่องเที่ยว พลังงานทดแทน และการเคลื่อนย้ายบุคคล ภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ