นางกิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า เวิลด์แบงก์ประมาณอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจของไทยในปี 55 ที่ระดับ 4.5% โดยขณะนี้ไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะกระทบกับการส่งออกในปีนี้
"ไทยยังต้องเตรียมพร้อมสำหรับการชะลอตัวงครั้งรุนแรงของเศรษฐกิจโลก โดยต้องมั่นใจว่าในประเทศมีฐานะการคลังที่มั่นคงเพียงพอ ขณะเดียวกันต้องเพิ่มประสิทธิภาพ และความสามารภการส่งออกของไทยอย่างรวดเร็ว"นางกิริฎา กล่าว
ในปี 55 คาดว่ารายได้ภาครัฐบาลจะอยู่ที่ 16.8% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ขณะที่รายจ่ายอยู่ที่ 22.8% ของจีดีพี ขณะที่ดุลงบประมาณของรัฐบาลอยู่ที่ 6% ของจีดีพี หนี้สาธารณะอยู่ที่ 41.7% ของจีดีพี
ขณะที่ปี 56 เวิลด์แบงก์คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 5% รายได้รัฐบาลอยู่ที่ 15.8% ของจีดีพี รายจ่าย 23.3%ของจีดีพี ดุลงบประมาณขาดดุล 7.5% ของจีดีพี หนี้สาธารณะอยู่ที่ 42.1% ของจีดี
นางกิริฎา กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทย คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและสหรัฐ ระดับราคาสินค้าโลกที่ต่ำลง ขณะที่รัฐบาลมีการใช้จ่ายกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจและมีผลต่อระดับความเชื่อมั่นภาคเอกชนด้วย นอกจากนี้ภาคการเงินยังแข็งแกร่งไม่ถูกกระทบจากวิกฤติยูโรโซน ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศสูงน่าจะสามารถรองรับวิกฤติยุโรปในปีนี้ได้
ด้านปัจจัยเสี่ยงคือ ปัญหายุโรปที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น นิคมอุตสาหกรรมเพิ่งฟื้นตัวจากน้ำท่วมช่วงปลายไตรมาส 2/55 โดยตัวเลขของกระทรวงอุตสาหกรรมบอกว่านิคมที่ฟื้นตัวและเริ่มดำเนินการมีแค่ 60% ในไตรมาสแรก ขณะที่การใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับแค่ 60% คาดว่าการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมจะมีผลต่อเศรษฐกิจเต็มที่ในช่วงครึ่งปีหลัง อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวมาที่ 3.5% ใกล้เคียงปีก่อน และความล่าช้าของการใช้งบประมาณบริหารจัดการน้ำ ซึ่งกระทบความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ
สำหรับปัญหาเศรษฐกิจในยุโรป แนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งเวิลด์แบงก์คาดว่าจีดีพีของยุโรปปีนี้จะติดลบ 0.3% ซึ่งจะมีการทบทวนประมาณการใหม่อีกครั้งในเดือนมิ.ย. แต่ก็คาดว่าจะติดลบมากขึ้น ดังนั้น จึงจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยโดยตรง แม้ว่าไทยจะลดการพึ่งพาตลาดยุโรปเหลือ 30% จาก 50% แต่ภายใน 1-2 ปีไทยคงยังไม่สามารถหาแหล่งส่งออกใหม่ทดแทนยุโรปได้ทัน นอกจากนั้น เมื่อเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัว การส่งออกไปจีนก็จะชะลอไปด้วย ก็จะทำให้ไทยได้รับผลกระทบทางอ้อม
ดังนั้น เวิลด์แบงก์คาดว่าส่งออกไทยจะเติบโตแค่ 12% ในปีนี้ โดยในไตรมาส 1/55 การส่งออกไทยไปตลาดยุโรปติดลบ 16.3% จากไตรมาส 4/54 ติดลบ 18.2% โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งออกไปยังยุโรปเป็นสินค้าอิเลคทรอนิกส คอมพิวเตอร์ ซึ่งคิดเป็น 10% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย
นางกิริฎา กล่าวว่า การคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ 4.5% ในปีนี้ไม่ได้ถือว่าเติบโตน้อยเมื่อเทียบกับภูมิภาคนี้ แต่กลับกันจีดีพีไทยจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้จีดีพีภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเติบโตได้ถึง 7.6% อย่างไรก็ตาม ไทยต้องเตรียมตัวหลายด้านเพื่อรองรับปัญหาในอนาคต คือ การเตรียมช่องว่างด้านนโยบายการคลัง ลดรายจ่ายเพื่อเพิ่มช่องทางในการกู้มากระตุ้นเศรษฐกิจ ในยามที่เอกชนชะลอตัวรัฐบาลจะต้องมีเงินเพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ
และจากการที่เศรษฐกิจยุโรปคงไม่กลับมาดีขึ้นในช่วงตลอด 10 ปีข้างหน้า ดังนั้น ควรจะเร่งกระจายการส่งออกของไทยไปตลาดอื่น รวมทั้งมีส่วนร่วมการค้าในภูมิภาคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ACE หรือตลาดอินเดียและจีน แต่ไทยคงไม่สามารถผลิตสินค้าในราคาถูกหรือเทคโนโลยีในระดับต่ำไปแข่งขันกับจีนและเวียดนามได้ ดังนั้นต้องเพิ่มผลิตภาพตั้งแต่วันนี้ ไม่งั้นอาจจะไม่ทัน
ด้านรัฐบาลเองก็จะต้องเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพราะปัจจุบันใช้งบลงทนแค่ 5% ของจีดีพีเท่านั้น ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกกับวิกฤติ 40 ที่อยู่ในดับ 12% เพราะการลงทุนจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และเพิ่มความสามารถการแข่งขัน อีกทั้งขณะนี้รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐบาลราว 3% ของจีดีพี ขณะที่สูญเสียรายได้ 1.5% ของจีดีพี ซึ่งควรจะลดลงมาเพื่อนำไปลงทุนมากขึ้น
เวิลด์แบงก์เห็นว่าการกระตุ้นการบริโภคอย่างเดียวไม่ได้ผลเท่ากับการลงทุน ดังนั้น ต้องเพิ่มความสามารถในด้านการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้เอกชนมีรายได้มากขึ้น และรัฐก็สามารถเก็บภาษีและใช้หนี้ในอนาคตได้ นอกจากนั้น รัฐบาลต้องเตรียมตัวรับวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่อาจจะเกิดขึ้นจากวิกฤติยุโรป แม้ว่าไทยจะมีระดับทุนสำรองสูง แต่ไม่แน่ใจว่าจะเพียงพอท่จะรองรับวิกฤติและเงินทุนไหลเข้าออกมาน้อยแค่ไหน แต่อย่างน้อยการมีทุนสำรองมากไว้ก็ถือว่าดีกว่า
นอกจากนั้น ภาวะเงินทุนไหลเข้าออกระยะสั้นจะทำให้ค่าเงินบาทผันผวนไปด้วย ภาคเอกชนจึงควรป้องกันความเสี่ยงไว้ และเริ่มหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะ AEC ส่วนนโยบายการเงินนั้นเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คงจะให้สมดุลระหว่างเงินเฟ้อและจีดีพี เพราะวิกฤติยุโรปที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นก็จะกระทบกับไทย แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแล้ว แต่ยังค่อนข้างอ่อนไหว