ธ.ก.ส. ร่วม JBIC-บ.สมโพธิ์ฯ เพิ่มพื้นที่ประกันภัยแล้งนาข้าวอีก 4 จังหวัด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 24, 2012 18:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบุญช่วย เจียดำรงค์ชัย รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ร่วมกับธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation : JBIC) และบริษัท สมโพธิ์ เจแปนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด จะดำเนินการสานต่อโครงการประกันภัยพืชผลจากภัยแล้ง โดยใช้ดัชนีน้ำฝนสำหรับการผลิตข้าว ให้กับเกษตรกรรายย่อย ซึ่งการประกันภัยดังกล่าวเป็นรูปแบบของ JBIC ทั้งนี้ เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงด้านการผลิตให้แก่เกษตรกร และส่งเสริมให้เกษตรกรสร้างหลักประกันความมั่นคงให้แก่ชีวิตของตนเอง

ทั้งนี้ในปีการผลิต 55 ได้ขยายพื้นที่การดำเนินงานเพิ่มอีก 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่กู้เงินเพื่อปลูกข้าว โดยมีพื้นที่การปลูกข้าวไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และอยู่ในเขตพื้นที่ดำเนินงานของ ธ.ก.ส. สาขาที่เกษตรกรกู้เงิน ซึ่งค่าเบี้ยประกันภัยจะคิดอัตราร้อยละ 4.64 ของวงเงินที่ประสงค์จะเอาประกันภัย ตัวอย่างเช่น หากเกษตรกรกู้เงินเพื่อปลูกข้าว จำนวน 200,000 บาท มีความต้องการจะทำประกันภัยพืชผลในวงเงิน 10,000 บาท จะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย เท่ากับ 464 บาท ทั้งนี้ค่าเบี้ยประกันภัยแต่ละรายขั้นต่ำเท่ากับ 464 บาท ระยะเวลาคุ้มครองตามกรมธรรม์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-30 ก.ย.55 รวม 92 วัน โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือช่วงที่ 1 เริ่มวันที่ 1-31 ก.ค.55 และช่วงที่ 2 เริ่มวันที่ 1 ส.ค.-30 ก.ย.55 โดยค่าสินไหมทดแทนที่เกษตรกรจะได้รับ ในกรณีที่ปริมาณน้ำฝนสะสมที่ตกจริงต่ำกว่าหรือเท่ากับกับค่าดัชนีน้ำฝนสะสมขั้นสูงสำหรับภัยแล้งประเภทต่างๆที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ เกษตรกรจะได้รับค่าชดเชยในกรณีที่เกิดภัยแล้งช่วงแรกในอัตราร้อยละ 10 ช่วงที่ 2 อัตราภัยแล้งร้อยละ 15 หรือภัยแล้งรุนแรงร้อยละ 40 ของจำนวนเงินกู้ที่ประสงค์จะเอาประกันภัย

สำหรับปี 54 ที่ผ่านมาได้ดำเนินงานประกันภัย ในพื้นที่รวม 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และนครราชสีมา มีเกษตรกรลูกค้าซื้อประกันภัยรวม 6,173 ราย พื้นที่ประกันภัยจำนวน 35,775 ไร่ ค่าเบี้ยประกันภัย 3,319,920 บาท วงเงินประกันภัย 71,550,000 บาท ทั้งนี้ได้มีการจ่ายสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรผู้ทำประกันภัย และประสบภัยแล้งไปแล้วจำนวน 90 รายจำนวนเงิน 141,000 บาท และจ่ายส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยให้กับเกษตรกรที่ไม่ประสบภัย จำนวน 6,083 ราย จำนวนเงิน 1,404,498 บาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ