ก.เกษตรฯจัด Clusterกุ้ง รักษาเสถียรภาพราคา หลังคชก.อนุมัติงบ 560 ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 28, 2012 15:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิกร จำนง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ จัดทำโครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งขาวแวนนาไม โดยระบบตลาดเครือข่ายแบบกลุ่ม (Shrimp Cluster) ปี 2555 เพื่อยกระดับราคากุ้งให้ได้ราคาที่ให้สอดคล้องกับต้นทุนในการเลี้ยงกุ้งสูงขึ้น โดยใช้กลไกการตลาดเครือข่ายแบบกลุ่มเป็นตัวกำหนด และเพื่อพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งให้เข็มแข็ง สามารถดำเนินธุรกิจทางด้านการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)

เนื่องจากสถานการณ์การส่งออกชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลก ส่งผลทำให้ประสิทธิภาพการแข่งขันในตลาดโลกของสินค้ากุ้งแปรรูปของไทยอยู่ในสภาวะถดถอย จากสาเหตุเงินบาทแข็งค่าและสกุลเงินของประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนามอ่อนตัวลง ทำให้ประสิทธิภาพการแข่งขันของผู้ส่งออกอยู่ในสถานะเสียเปรียบ ประกอบกับปริมาณกุ้งในช่วงนี้จะออกสู่ตลาดมากขึ้น รวมถึงสภาพภูมิอากาศที่ร้อนจัดทำให้เกษตรกรเร่งจับผลผลิตเร็วขึ้น ทำให้เป็นการเพิ่มปริมาณผลผลิตเข้าสู่ระบบตลาดมากขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 อนุมัติวงเงินจากกองทุน คชก. 562.380 ล้านบาท ให้กรมประมงดำเนินโครงการดังกล่าวตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการ คือ 1) สหกรณ์/ชมรม/สมาคม/เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง และผ่านการตรวจสอบ คุณสมบัติตามข้อกำหนดเพื่อให้ได้เกษตรกรที่แท้จริง 2) ห้องเย็นแปรรูปเพื่อการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นห้องเย็นที่เสนอโดยสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สำหรับระยะเวลาในการดำเนินการซื้อขายแก้ปัญหาในระยะสั้นเป็นเวลา 3 เดือน (พฤษภาคม — กรกฎาคม 2555) และระยะเวลาโครงการ 6 เดือน (พฤษภาคม — ตุลาคม 2555) โดยมีปริมาณผลผลิตเป้าหมายในการซื้อขายกุ้งในระบบตลาดเครือข่ายแบบกลุ่ม รวม 30,000 ตัน แบ่งเป็นรายเดือนๆ ละ 10,000 ตัน ในพื้นที่ดำเนินการจังหวัดที่เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมที่สำคัญในภาคใต้ตอนบน ภาคใต้ตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทั้งนี้ ส่วนต่างของราคาเป้าหมายนำตลาดและราคาตลาดที่ห้องเย็นรับซื้อ สำหรับกุ้งขนาด 40-80 ตัว/กก. มีส่วนต่างราคา 20 บาท/กก. ส่วนกุ้งขนาด 90-100 ตัว/กก. มีส่วนต่างของราคา 10 บาท/กก. ซึ่งส่วนต่างราคาดังกล่าวภาครัฐจะให้ความสนับสนุน ในวงเงิน 534 ล้านบาท สำหรับการดำเนินการ 30,000 ตัน โดยเกษตรกรสามารถยื่นขอรับเงินช่วยเหลือส่วนต่างราคาตามอัตราที่กำหนด ผ่านคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดสั่งจ่ายผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ส่วนวงเงิน 12 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจคุณภาพกุ้งของกรมประมง และวงเงิน 16.380 ล้านบาท เป็นค่าบริหารโครงการฯ ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 3% ของวงเงินโครงการ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายในการดำเนินงานโครงการดังกล่าวจะช่วยรักษาเสถียรภาพราคากุ้งขาวแวนนาไม และส่งผลให้เกษตรกรขายกุ้งขาวแวนนาไมได้ในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งครอบคลุมต้นทุนการผลิตและมีกำไรระดับหนึ่งเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินการเลี้ยงกุ้งรอบต่อไป รวมถึงเป็นการสร้างระบบการซื้อขายแบบ Contract farming ในอุตสาหกรรมกุ้งให้มั่นคง เป็นการสร้างระบบการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด และนำไปสู่การพัฒนาการบริหารจัดการอุตสาหกรรมกุ้งอย่างยั่งยืนในระบบเครือข่ายแบบกลุ่ม (Shrimp Cluster) ได้ในอนาคต ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากในการเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำให้แก่เกษตรกรในระยะยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ