SCB EIC แนะไทยหาตลาดส่งออกใหม่แทน EU หลังศก.ยุโรปไร้ทิศทางฟื้นตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 28, 2012 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า การส่งออกในระยะต่อไปของไทยจะต้องหาตลาดส่งออกมาทดแทนยุโรป เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปยังไม่มีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น และยังมีความเปราะบางของภาคการเงินค่อนข้างมาก ดังนั้นการส่งออกไปยุโรปคงไม่ฟื้นตัวในเร็ววัน

สิ่งที่จะสามารถพยุงไม่ให้การส่งออกของไทยตกต่ำจึงเป็นการพัฒนาตลาดส่งออกใหม่ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาพบว่าตลาดส่งออกที่ยังเติบโตได้ดีต่อเนื่องคือ อเมริกาใต้ และแอฟริกา ซึ่งหากรวมกันแล้วจะมีขนาดประมาณ 50-60% ของการส่งออกของไทยไปยังสหภาพยุโรป

ทั้งนี้ ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกของไทยเดือนเมษายนอยู่ที่ 16.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 3.7% ขณะที่มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 19.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 7.8% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยราคาส่งออกสินค้าเกษตรตกต่ำต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรลดลง 11.6% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาสินค้าเกษตรกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ยางพาราและมันสำปะหลัง ลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่แล้ว นอกจากนี้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรยังได้รับผลกระทบจากปริมาณการส่งออกข้าวโดยรวมที่ลดลงราว 43% อีกด้วย

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงหดตัว 5.8% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาคการผลิตยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกุล่มประเทศสหภาพยุโรป เห็นได้จากการส่งออกไปยุโรปยังคงหดตัวต่อเนื่องราว 12.5% โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจำพวกอัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังประเทศอาเซียนยังคงขยายตัวได้ดีราว 6.7%

การนำเข้าสินค้าทุนในเดือนเมษายนขยายตัวถึง 23.1% หลังจากที่ขยายตัว 12.6% ในไตรมาสแรกการผลิตภาคอุคสาหกรรมยังคงเร่งนำเข้าเครื่องจักรและชิ้นส่วนประกอบบ่งบอกว่าผลผลิตอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ต่อไป และแม้ว่าเดือนเม.ย.นี้ การนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบจะไม่สูงมากเท่ากับเดือนที่ผ่านมา แต่การส่งออกที่หดตัวประกอบกับการนำเข้าที่ขยายตัว ทำให้ยังมีการขาดดุลการค้าค่อนข้างสูงในระดับ 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ