นักวิชาการแนะรบ.ตั้งราคาขายปลีกสะท้อนต้นทุน-ลดภาษีสรรพสามิตเบนซิน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 28, 2012 18:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิชาการและเอ็นจีโอแนะรัฐบาลตั้งราคาน้ำมันเบนซิน 91 ห่างจากแก๊สโซฮอล์ 91 ไม่น้อยกว่า 5 บาท/ลิตร และแก๊สโซฮอล์ 95 ไม่น้อยกว่า 3 บาท/ลิตร ราคาแก๊สโซฮออล์ 95 ห่างกับราคาแก๊สโซฮอล์ 91 ประมาณ 2-3 บาท/ลิตร ขณะเดียวกันควรปรับลดภาษีสรรพาสามิตสำหรับน้ำมันเบนซินเหลือกว่า 4 บาท/ลิตรจากปัจจุบันเก็บ 7 บาท/ลิตร และเพิ่มเพิ่มเก็บภาษีน้ำมันดีเซล 2.30-2.50 บาท/ลิตร จากปัจจุบันเก็บ 0.005 บาท/ลิตร เพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันถูกหรือแพงเกินไป และกระตุ้นให้เกิดการใช้อย่างประหยัด

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานเสวนา"ราคาพลังงาน ทำไมต้องแพง" จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจว่า ราคาพลังงานในไทยมีทั้งถูกเกินไปและแพงเกินไป ได้แก่ ก๊าซหุงต้ม(LPG) มีราคาถูกเกินไป ทำให้เกิดการลักลอบนำออกทางชายแดนในขณะนี้ ราคาดีเซลแตกต่างจากน้ำมันเบนซินมาก และช่วงห่างของราคาระหว่างเบนซินกับแก๊สโซฮอล์น้อยเกินไป

มองว่าราคาขายปลีกควรจะสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง รวมราคาน้ำมันดิบและค่าการตลาด ดังนั้นรัฐบาลควรเก็บภาษีเพื่อสะท้อนต้นทุนให้มาก รัฐไม่ควรตรึงราคาน้ำมันนานเกินไป แต่หากราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวนรัฐเข้ามาแทรกแซงได้ผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และอุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ในประเทศเช่น แก๊โซฮอล์ ไบโอดีเซล รวมถึงการอุดหนุนกับประชาชนที่รายได้น้อย หรือบางกลุ่มโดยการแจกคูปองที่สามารถโอนได้ และราคาขายปลีกแต่ละผลิตภัณฑ์ควรห่างกันเพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศ

ส่วนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เห็นว่ารัฐควรกำหนดกรอบว่าจะติดลบหรือบวกได้ไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท ไม่ควรจะให้กองทุนน้ำมันฯแบกรับผลขาดทุนมากเกินไป

ด้านน.ส.สุวพร ศิริคุณ ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โครงสร้างราคาน้ำมันในไทยบิดเบือนไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพราะมีทั้งการเก็บภาษีสรรพาสามิต ภาษี่ของกระทรวงมหาดไทยและภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) รวมทั้งเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อีกทั้งมองว่าควรจะลอยตัว LPG ในทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มขนส่ง กลุ่มอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถลอยตัวราคา LPG ได้

นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทวงพลังงาน กล่าวว่า การตรึงราคาให้ LPG และ NGV มีราคาถูกสะท้อนเจตนาดีของรัฐบาล แต่ก็ทำให้การขยายกิจการทำไม่ได้ เพราะไม่คุ้มค่าในหลักเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นจึงต้องรอผลศึกษาการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG)ภาคขนส่ง และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV)ที่กระทรวงพลังงานว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจะดำเนินการเสร็จใน 3 เดือน

"ราคา LPG ทำไปก็จะเหือนอุ้มค่าเงินบาท เมื่อปี 40 จะชนะยาก จะสู้ก็ไม่ไหว ก๊าซในอ่าวไทยก็จะหมด"รองปลัดกระทรวงพลังงานกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ