น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือถึงนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานและรัฐบาลไม่ให้ปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร(Ft) ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)มีมติอนุมัติให้ปรับขึ้น 30 สตางค์ต่อหน่วยในเดือน มิ.ย.-ส.ค.นี้ โดยมีนายอำนวย ทองสถิตย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการฯ มารับหนังสือแทน
เนื่องจากเห็นว่า กกพ.ควรนำภาระหนี้ค้างจ่ายที่เกิดจากระบบก๊าซธรรมชาติมาคำนวณในค่าไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ภาระค่า Ft ในอนาคตปรับลดลง โดยปัจจุบันมีภาระค้างจ่ายหลายด้าน เช่น เงินค่าปรับกรณีท่อก๊าซฯ จากแหล่งอาทิตย์และเจดีเอในอ่าวไทย เกิดปัญหาในเดือน เม.ย.-พ.ค.54 เป็นวงเงิน 2,400 ล้านบาท, เงินค่าปรับกรณี ปตท.ลงทุนท่อก๊าซธรรมชาติต่ำกว่าแผน, เงิน Make up ก๊าซธรรมชาติจากพม่า ตั้งแต่เริ่มซื้อก๊าซฯ ปี 2545 ตามสัญญา Take or Pay ซึ่งยังค้างคำนวณ 12,627 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 36,000 ล้านบาท และหากตัดลดวงเงินที่ ปตท.นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ในปี 54 จำนวน 16,000 ล้านบาทมาคำนวณ จะทำให้ค่าไฟลดลงได้ โดยเห็นว่า ในปีที่ผ่านมาก๊าซ LNG ส่วนใหญ่นำเข้ามาทดสอบระบบจึงไม่ควรนำมาคำนวณในค่าไฟ
พร้อมกันนี้ มูลนิธิฯ ยังเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานยกเลิก "คู่มือการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ" เนื่องจากเห็นว่าคู่มือดังกล่าวมีการกำหนดสูตรราคาก๊าซธรรมชาติที่ไม่เป็นธรรม โดยการอ้างอิงจากราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือน แทนที่จะอ้างอิงจากราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันมีการใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพียง 1% ประกอบกับสูตรราคาก๊าซธรรมชาติดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับ บมจ.ปตท.(PTT) และบริษัทในเครือ ปตท.ด้วยการขายก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในราคาถูก ขณะที่การขายก๊าซธรรมชาติเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชนมีราคาที่สูงกว่า และไม่เห็นด้วยกับการนำก๊าซ LNG ซึ่งนำเข้าราคาสูงมาคำนวณรวมกับต้นทุนค่าไฟฟ้า
ด้านนายอารักษ์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานไม่มีสิทธิ์ไปสั่งการ กกพ.ในเรื่องค่า Ft เพราะเป็นอำนาจหน้าที่และดุลยพินิจของ กกพ.โดยตรง และอาจมีความผิดตามกฎหมาย เพราะ กกพ.เป็นองค์กรอิสระ แต่สามารถให้ความเห็นกับ กกพ.ได้ ทั้งนี้หากมูลนิธิฯ เห็นว่าสูตรการคำนวณต้นทุนดังกล่าวไม่เป็นธรรมก็ควรไปเจรจากับ กกพ.
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานเคยให้ความเห็นว่า การปรับขึ้นค่า Ft งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.54 จำนวน 30 สตางค์ต่อหน่วย จะเป็นภาระต่อประชาชน และหากตรึงค่า Ft ไว้ก็ควรพิจารณาผลเสียที่จะเกิดขึ้นด้วย โดยเฉพาะผลกระทบจากการแบกรับภาระต้นทุน และดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นของ กฟผ.จึงควรพิจาณาอย่างรอบคอบ
ขณะที่นายนภดล มัณฑะจิตร กรรมการ กกพ. กล่าวว่า สูตรคำนวณต้นทุนก๊าซธรรมชาตินั้นได้พิจารณาอย่างเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยเป็นไปตามสัญญาการซื้อขายก๊าซธรรมชาติที่ทำไว้ตั้งแต่ประเทศไทยผลิตก๊าซฯ จากอ่าวไทย เมื่อ 30 ปีที่แล้ว และการที่อ้างอิงราคาน้ำมันเตา เพราะในอดีตเป็นการนำก๊าซฯ มาทดแทนน้ำมันเตาที่ใช้ผลิตไฟฟ้า หากจะเปลี่ยนสูตร คงจะต้องใช้เฉพาะสัญญาใหม่เท่านั้น ส่วนการนำเข้า LNG ก็เป็นการพิจารณาราคาระหว่างประเทศ โดย กกพ.มีการคำนวณอย่างรอบด้าน
ส่วนเรื่องภาระหนี้ค้างจ่ายทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะนำเงินมาใช้ในช่วงใด เพราะค่า Ft ในอนาคตมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งหากสูงขึ้นจริงก็จะนำมาคำนวณคืนเพื่อลดการปรับขึ้นค่า Ft ลง